Stock

10 เรื่องต้องรู้ ‘บิ๊กซี’ IPO เข้าตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง

10 เรื่องต้องรู้ “บิ๊กซี” IPO เข้าตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง มีอะไรน่าสนใจบ้าง

แผนการกลับเข้าตลาดหุ้นครั้งใหม่ของ “บิ๊กซี” ชัดเจนแล้ว ล่าสุดได้ยื่นไฟลิ่งในนาม บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อย บทความนี้จึงอยากจะมาสรุป 10 เรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องรู้สำหรับหุ้น IPO บิ๊กซี

1. การระดมทุนครั้งนี้ของบิ๊กซี หรือชื่อย่อใหม่ BRC จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,729,999,999 หุ้น รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 29.98% ของทุนชำระแล้ว

2. ภายหลังการเสนอขาย IPO บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70.02% และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมใน BRC เช่นเดิม โดย BRC จะมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ BJC ในฐานะเรือธง (Flagship Company) สําหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ธุรกิจค้าส่ง และสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิมของกลุ่ม

3. BRC มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมาเกือบ 30 ปี ปัจจุบันมีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 

1. ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี เพลส, บิ๊กซี มาร์เก็ต, บิ๊กซี ฟู๊ดเพลส, บิ๊กซี ดีโป้, บิ๊กซี มินิ, บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส เป็นต้น

10 เรื่องต้องรู้ หุ้น IPO บิ๊กซี

2. ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม 

3. ธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านขายยาเพรียว ร้านขายยาสิริฟาร์มา ร้านกาแฟวาวี ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส บริการรับชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ Big Service เป็นต้น

4. BRC มีจุดเด่นในเรื่องความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง สามารถนำเสนอสินค้าที่คุ้มค่าและหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการ นอกจากนั้นยังมีจุดแข็งด้วยรูปแบบธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน 

5. ผลการดำเนินงานย้อนหลังในช่วงปี 2563-2565

ปี 2563 รายได้รวม 113,110 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 709 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวม 111,107 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,333 ล้านบาท

ปี 2565 รายได้รวม 113,573 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,757 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานย้อนหลังช่วงปี 2563 2565@300x 100

6. รายได้หลักของบริษัทกว่า 88% มาจากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่รวมทั้งในไทยและ CLMV ส่วนอีก 10% เป็นธุรกิจค้าส่ง B2B ที่ขายของให้บริษัทขนาดใหญ่และมีร้านโชว์ห่วยโมเดลใหม่ของบริษัทในชื่อ ร้านค้าโดนใจ สุดท้ายอีก 2% เป็นธุรกิจอื่นๆ 

7. วัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินไปใช้การลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมภายหลังในหนังสือชี้ชวน

8. นโยบายการจ่ายเงินปันผล BRC ใช้หลักเกณฑ์ไม่ต่ำกว่า 50% ของกําไรสุทธิของผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มบริษัท โดยยังไม่รวมผลกำไรหรือขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และไม่รวมผลกำไรหรือขาดทุนหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้

9. BRC ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จํากัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จํากัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด

10. นับเป็นการกลับเข้าตลาดหุ้นในรอบ 6 ปี หลังจากที่บิ๊กซีได้เพิกถอนหุ้นโดยสมัครใจในปี 2560 เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งก็คาดหวังว่าการเข้าตลาดรอบนี้ บิ๊กซีจะมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 3 ของกลุ่มค้าปลีกต่อจาก CPALL และ MAKRO

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน