Stock

วิบากกรรม ‘BTS’ ราคาดิ่งสุดในรอบ 10 ปี

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น BTS หรือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กำลังถูกกดดันอย่างรุนแรง โดยในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ปิดการซื้ออยู่ที่ 6.70 บาท ถือเป็นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี

สาเหตุที่หุ้น BTS ปรับตัวลดลงอย่างร้อนแรง มาจากประเด็นที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับพวกรวม 13 คน รวมถึง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTS พร้อมทั้ง นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการของ BTSC ที่เกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ตั้งแต่ปี 2555

shutterstock 1554835973.jpg222

โดยกล่าวหาในประเด็นหลักว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (กฎหมายร่วมทุน) ประกอบด้วย 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง 2. สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ 3. การต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585

BTS โต้กลับ จี้รัฐจ่ายหนี้ 5 หมื่นล้าน

หลังมีประเด็นดังกล่าวออกมา นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTS เปิดแถลงข่าวเพื่อชี้แจง โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่าการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น บริษัทดำเนินการอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน ไม่มีการฮั้วประมูลตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมเตรียมฟ้องกลับผู้ที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

Capture.JPG55

นอกจากนี้ ยังตอบโต้กลับในประเด็นเรื่องที่ตอนนี้รัฐมีหนี้ค้าง BTS เกือบ 50,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเป็นค่าจ้างเดินรถรายปีในส่วนเส้นทางต่อขยาย ที่หยุดชำระเมื่อราวปี 2562 เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่

พร้อมยืนยันว่าบริษัทยังมีสถานะที่แข็งแรง โดยจะยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการร่วมทุนในสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่ารวมราว 8 แสนล้านบาท รวมทั้งเข้าประมูลเพื่อขอสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572

shutterstock 782257207

ส่วนสภาพคล่องก็ยังดีอยู่ ปีนี้บริษัทจะเริ่มเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ในเดือนมิถุนายน และเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะสร้างรายได้ปีละ 2,000 ล้านบาท และได้รับเงินอุดหนุนงานโยธาอีกปีละ 4,700 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 10 ปี อีกทั้งเตรียมออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน วงเงินราว 10,000 ล้านบาท ในช่วงกลางปี 2566

แนะเลี่ยงลงทุน สลับไปซื้อหุ้น BEM

ความเห็นของนักวิเคราะห์มองว่าความเสี่ยงนี้จะกดดันราคาหุ้นของ BTS ต่อเนื่อง แม้จะใช้เวลาหลายปีกว่าศาลจะตัดสิน ทั้งนี้ บล.ธนชาต เผยว่านี่เป็นข่าวร้ายสำหรับ BTS ทำให้ราคาหุ้นอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไป ดังนั้น จึงชอบหุ้น BEM หรือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มากกว่า เพราะไม่มีความเสี่ยงจากการเสียสัญญาสัมปทานแล้ว และคาดว่ากำไรของ BEM จะสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากปริมาณการใช้ทางด่วนที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวของผู้โดยสาร

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “หลีกเลี่ยง” การลงทุนไปก่อน เพราะข่าวดังกล่าวทำให้การได้มาซึ่งสัญญาเดินรถไฟฟ้าเกิดความไม่แน่นอน แม้ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง (5 สถานี) และตากสิน-วงเวียนใหญ่ (2 สถานี) ถึงจะเปิดให้เอกชนรายอื่นประมูล แต่ก็คงไม่มีใครเข้าร่วมประมูล ด้วยระยะทางที่สั้นมาก ทำให้การเจรจาตรงกับ BTS จะเหมาะสมกว่า แต่การผิด พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ คงต้องติดตามต่อไปว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน