‘ชัชชาติ’ ยอมรับ ได้รับ ‘เอกสารลับ ป.ป.ช.’ หากชี้มูล กระทบสัญญาจ้างเดินรถ ส่วนต่อขยาย เผยแจ้งข้อกล่าวหา 13 คน ผิดพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการทำสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT ผู้ว่าจ้าง ในฐานะวิสาหกิจของ กทม. กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับจ้าง
โดยกทม.ได้รับทราบเอกสารลับดังกล่าวในฐานะผู้ถือหุ้น KT ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เนื้อหาในหนังสือเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ 13 คน ในความผิดเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงพระราชบัญญัติร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน และไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง ในการทำสัญญาจ้างเดินรถ 30 ปี (2555-2585)
หากมีการชี้มูล ส่งผลกระทบกับสัญญาจ้างเดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 2
สัญญาจ้างเดินรถดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 ปี 2555-2572 เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 2 ปี 2572-2585 เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนสัมปทานช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน
หากมีการชี้มูลหรืออื่น ๆ อันมีผลกระทบกับสัญญาฉบับนี้ ย่อมส่งผลกระทบกับสัญญาจ้างเดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากเนื้อหาในสัญญามีความใกล้เคียงกัน และสัญญาจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นการทำสัญญาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
ในการดำเนินการต่อไป ทางกรุงเทพธนาคมหรือ KT ต้องมีการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ป.ป.ช. ต้องติดตามว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลความผิดหรือไม่ ต้องใช้เวลาช่วงเวลาหนึ่ง
มอบ KT ศึกษาเรื่องค่าจ้างเดินรถอย่างละเอียด
นายชัชชาติ กล่าวว่า ผลการชี้มูลความผิดจะกระทบกับสัญญาจ้าง จะส่งผลให้สัญญาเป็นโมฆะหรือไม่ ต้องสอบถามผู้เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญก่อน ส่วนเรื่องการจ่ายค่าจ้างเดินรถ และการเจรจาต่อเนื่องของเอกชนผู้เดินรถ ได้ให้กรุงเทพธนาคมดำเนินการด้วยความรอบคอบ และปฏิบัติตามกฎหมาย
ทั้งนี้ การจ้างเดินรถไฟฟ้าของ BTSC มีคู่สัญญาสำคัญอยู่ 2 ฝ่าย คือ กรุงเทพธนาคม หรือ KT และทางกองทุน BTSGIF ที่รับผิดชอบการเดินรถและได้รับค่าโดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตัวค่าจ้างเดินรถมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างกองทุน BTSGIF กับทาง KT ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะค่าจ้างเดินรถมีค่าใช้จ่ายหลายส่วนรวมกัน สัญญายังเปิดช่องให้เอกชนผู้เดินรถ สามารถขอปรับค่าจ้างการเดินรถขึ้นได้ฝ่ายเดียว หากมีสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น ราคาพลังงานสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงเกินกำหนด กรณีที่สถานการณ์กลับกัน กรุงเทพมหานคร ต้องเจรจา กับเอกชนเพื่อขอลดค่าจ้างเดินรถ เนื่องจากในสัญญาหลักไม่ได้ระบุไว้
อ่านข่าวเพิมเติม
- การรถไฟฯ ชวนเอกชนยื่นข้อเสนอ บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-รถไฟฟ้าสายสีแดง’ 12 สถานี
- เริ่มแล้ว! การsถไฟฯ เปิดจองตั๋วล่วงหน้า ‘ช่วงสงกรานต์’ เดินทางวันไหน? จองเมื่อไหร่? คลิกเลย!
- อัปเดต ‘โครงการรถไฟฟ้า 5 สาย’ สายไหน? คืบหน้ากี่เปอร์เซนต์ เช็กที่นี่