Finance

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ยัน ‘เศรษฐกิจไทย’ ไม่วิกฤติ เมิน ‘เศรษฐา’ ร้องลดดอกเบี้ย

ธปท. เมินเสียงเรียกร้องจัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อลดดอกเบี้ย “เศรษฐพุฒิ” ย้ำ เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ ชี้ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ไม่ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และวัฏจักร ที่กดดันเศรษฐกิจอยู่

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ของญี่ปุ่น รายงานบทสัมภาษณ์นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ที่ระบุว่า ธปท. ไม่ได้ “ดันทุรัง” เกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ขอให้หันไปดูข้อมูลเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่แสดงให้เห็นถึง การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบอยู่ โดยในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวแค่ 1.9% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพราะอุปสรรคทางการเมืองทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

399147018 182828088215126 6523024642378421369 n

“ถึงเราจะลดดอกเบี้ยลงมา ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจับจ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากไทยมากขึ้น หรือทำให้รัฐบาลต้องกระจายงบประมาณเร็วขึ้น และนั่นคือ 3 ปัจจัยหลักที่เน้นถึงการเติบโตอย่างเชื่องช้า”

รายงานระบุว่า ธปท. ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 4 เดือนติดต่อกัน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ควบคู่ไปกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอ และการส่งออกหดตัว

แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เมินเสียงเรียกร้องของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่อยากให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19 ก.พ.) นายเศรษฐาได้ออกมาเรียกร้องถึงการลดดอกเบี้ยอีกครั้ง หลังมีการเปิดเผยตัวเลขจีดีพีที่อ่อนแอ โดยของให้ ธปท. จัดการประชุมฉุกเฉิน ก่อนถึงการประชุมวาระปกติครั้งต่อไปในวันที่ 10 เมษายน

นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขา กับนายเศรษฐา ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยว่า เป็นไปอย่าง “มืออาชีพ” และ “เป็นมิตร” ต่อกัน แต่ปฏิเสธว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ ตามที่นายเศรษฐา ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เป็นการบ่งชี้ถึงภาวะวิกฤติ เพื่อให้กระบวนการทางนิติบัญญัติ สามารถอนุมัติการเดินหน้านโยบาย “ดิจิทัล วอลเลต” ได้ง่ายขึ้น

เศรษฐกิจไทย

แม้การฟื้นตัวจะอ่อนแอ แต่ก็มีการฟื้นตัวเกิดขึ้น และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารกลาง ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยนายเศรษฐพุฒิ จะไม่ได้นั่งตำแหน่งนี้ต่อไปหลังจากหมดวาระในปี 2568 เนื่องจากเขาจะเกษียณอายุในวัย 60 ปี

“รัฐบาล กับธปท. มีความตึงเครียดกันอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลอะไรที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะทำงานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องทำความเข้าใจว่า ตามกฎหมายแล้ว เรามีบทบาทหน้าที่ในการทำงานที่แตกต่างกัน”

เขาบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ธปท. ต้องรับมือกับเสียงเรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย หลังมีการวิจารณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยตามหลังแนวโน้มของทั่วโลก ที่ปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2565

“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมสำหรับเรา เพราะว่าการฟื้นตัวของเรานั้นช้ากว่าประเทศอื่น ๆ”

ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึง กรณีที่กรรมการ 2 คน ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า กรรมการส่วนน้อยมีความกังวลว่าอุปสรรคเชิงโครงสร้างจะมีความรุนแรงมาก จึงเห็นว่าอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะลดดอกเบี้ยลงมาให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความเป็นกลางแบบใหม่”

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน อาทิ จำนวนประชากร และผลิตผลจากแรงงานที่ลดลงแล้ว กนง. ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว ที่มีแรงงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของแรงงานไทยทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับในจีดีพี

ความกังวลที่เกิดขึ้น ยังรวมถึงเรื่องการใช้เวลาท่องเที่ยว และใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ ตั้งข้อสงสัยว่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด หรือไม่

“โควิดทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างมากจริง ๆ และเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก ที่จะสันนิษฐานว่า ทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนอย่างเดิม คุณต้องทำบางอย่าง ถ้าอยากจะให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้”

เศรษฐกิจไทย
เศรษฐา ทวีสิน

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ระบุว่า เขาจะไม่เข้าไปแทรกแซง ธปท. แต่จะพยายามโน้มน้าวให้แบงก์ชาติ เห็นใจประชาชนที่กำลังประสบกับความยากลำบาก ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ ชี้ว่า ประชาชนต้องเจอกับความยากลำบากอย่างมาก เพราะรายได้ไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วเท่าที่ ธปท. ต้องการ และธนาคารมองว่า การใช้มาตรการที่ตรงเป้าหมาย จะเป็นวิธีที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมเลย ที่รัฐจะต้องช่วยพยุงทุกคนไปอย่างต่อเนื่อง

เขายอมรับว่า รับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่มีต่อผู้กู้ แต่การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ที่มากกว่า 90% ของจีดีพี

“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุหลักมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า  กระตุ้นให้ผู้คนกู้ยืม และผมคิดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง จะเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ในแง่ของความพยายามที่จะทำให้หนี้ครัวเรือนมีเสถียรภาพมากขึ้น”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo