Finance

ค่าเงินบาท เปิดวันนี้ 12 ก.ค. ที่ 34.76 บาท จับตาสหรัฐ เปิดตัวเลขเงินเฟ้อคืนนี้

ค่าเงินบาท เปิดเช้าวันนี้ (12 ก.ค.) ที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55 -34.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ และมองกรอบเงินบาทที่ระดับ 34.45-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ

ค่าเงินบาท

ช่วงคืนก่อนหน้า โดยรวมแล้วค่าเงินบาทเคลื่อนไหว sideway ในกรอบ 34.75-34.85 บาทต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้  ทั้งยังรอดูสถานการณ์การเมืองไทย ที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันที่ 13 กรกฎาคม

โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้างในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ แต่ขณะนี้ มองเห็นสัญญาณการทยอยขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน ก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ

นอกจากนี้ โซน 34.55-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ก็เป็นช่วงที่ผู้เล่นในตลาด อย่าง ผู้นำเข้า รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นในตลาดที่กลับมา Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ในช่วงเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจทยอยขายทำกำไรได้บ้าง

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือ อาจปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด ก็อาจกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า ธนาคารกลางาสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ อย่างน้อย อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจอยู่ในระดับสูงได้นานขึ้น (Higher For Longer)

มุมมองดังกล่าว อาจช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยอาจอ่อนค่ามาติดโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐ ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งซึ่งน้อยกว่า Dot Plot ล่าสุด

ค่าเงินบาท

ในกรณีดังกล่าว คาดว่า หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ราคาทองคำก็อาจรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือสูงกว่านั้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งก็เป็นแนวรับที่ผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์เช่นกัน

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo