Finance

‘6 ธนาคาร’ ทรงอิทธิพลต่อ ‘ระบบการเงินไทย’

ข่าวการล่มสลายของธนาคารในสหรัฐ รวมถึง การลุกลามไปสู่ธนาคารในยุโรปอย่าง Credit Suisse ธนาคารยักษ์ใหญ่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง และขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

เหตุผลที่ภาครัฐต้องอุ้ม Credit Suisse เนื่องจากความใหญ่และอิทธิพลของบริษัทที่เชื่อมโยงไปกับระบบการเงินทั่วโลกและยังเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวน หาก Credit Suisse ล้มขึ้นมา ก็มีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่เป็นวงกว้าง 

6 ธนาคารทรงอิทธิพล

หรือที่เราเรียกกรณีแบบนี้ว่า Too Big to Fail” หมายถึง บริษัทขนาดใหญ่ที่หากเกิดปัญหาขึ้นมา จะส่งผลลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาประคับประคองไว้อยู่รอดต่อไป ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มสถาบันทางการเงินขนาดใหญ่ เพราะเป็นธุรกิจที่เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของวงจรเศรษฐกิจ ซึ่งคอยสูบฉีดเงินไปยังภาคส่วนต่าง ๆ

มองกลับมาสถาบันทางการเงินของประเทศไทย ก็จะเห็นว่ามีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เข้าข่าย Too Big to Fail เช่นกัน โดยหากยึดตามนิยามของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประกาศรายชื่อ 6 ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ได้แก่ 

  1. ธนาคารกรุงเทพ
  2. ธนาคารกรุงไทย
  3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  4. ธนาคารกสิกรไทย 
  5. ธนาคารไทยพาณิชย์ 
  6. ธนาคารทหารไทยธนชาต

นัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ คือ ความเสี่ยงที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบการเงินหรือเศรษฐกิจของประเทศ แปลว่าธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง จะโดนแบงก์ชาติกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยต้องรายงานผลการดำเนินการ เงินกองทุน แผนการดำเนินธุรกิจให้แบงก์ชาติช่วยตรวจสอบตลอดเวลา รวมทั้งต้องสำรองเงินไว้ในกองทุนมากกว่าธนาคารอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าหากวิกฤตอะไรเกิดขึ้น จะสามารถรับมือได้ 

หลักเกณฑ์ที่นำมาพิจารณาว่าธนาคารแห่งไหนมีความเสี่ยงเชิงระบบ ประกอบด้วย 4 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านขนาดของสินทรัพย์ และหนี้สินของสถาบันการเงิน
  2. ด้านความต้องการเงินทุนที่มีต่อระบบการเงิน
  3. ด้านโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันการเงิน
  4. ด้านความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการดำเนินธุรกิจ

ความแข็งแกร่ง 6 ธนาคารไทย@300x 100

นี่คือเหล่าธนาคารยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลและมั่นคงอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดสุด ๆ ขณะเดียวกันก็เชื่อว่า หากมีอันตรายเกิดขึ้น ภาครัฐคงต้องรีบงัดกลไกต่าง ๆ เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในด้านการล้มละลายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน