Stock - Finance

5 หุ้นโรงพยาบาล สุขภาพการเงินแข็งแรง!!

สรุป 5 หุ้นโรงพยาบาล สุขภาพการเงินแข็งแรง หลังประกาศผลประกอบการประจำปี 2564 ที่ส่วนใหญ่สามารถทำรายได้และกำไรสุทธิเติบโตดี

เมื่อเศรษฐกิจมีความผันผวน เราจะหันมานึกถึงหุ้นเชิงรับที่ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจ หรือ Defensive Stock ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล” เพราะหลังประกาศผลประกอบการประจำปี 2564 ที่ส่วนใหญ่สามารถทำรายได้และกำไรสุทธิเติบโตดี ทำให้ราคาหุ้นโรงพยาบาลหลายแห่งยังคงยืนแข็งแกร่งต่อเนื่อง

วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลของ 5 หุ้นโรงพยาบาล ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์สูงสุดในตลาดหุ้นไทย มาฝากกันแบบครบๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าแต่ละโรงพยาบาลมีรายได้และกำไรเติบโตอย่างไรบ้าง รวมทั้งความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (31 มีนาคม 2565)

โรงพยาบาล

1. หุ้น BDMS หรือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
โรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลเปาโล และ โรงพยาบาล BNH
Market Cap. 397,300 ล้านบาท
ผลประกอบการปี 2564 รายได้รวม 75,791 ล้านบาท (+15.47%) กำไรสุทธิ 7,936 ล้านบาท (+10%)
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในรอบปี (ม.ค. – มี.ค. 2565) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +11.61%

2. หุ้น BH หรือ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)
โรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล
Market Cap. 123,604 ล้านบาท
ผลประกอบการปี 2564 รายได้รวม 12,673 ล้านบาท (+0.84%) กำไรสุทธิ 1,215 ล้านบาท (+0.91%)
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในรอบปี (ม.ค. – มี.ค. 2565) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +10.28%

3. หุ้น THG หรือ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
โรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลธนบุรี
Market Cap. 73,729 ล้านบาท
ผลประกอบการปี 2564 รายได้รวม 10,974 ล้านบาท (+47.38) กำไรสุทธิ 1,337 ล้านบาท (+2,041%)
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในรอบปี (ม.ค. – มี.ค. 2565) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +125.31%

โรงพยาบาล

4. หุ้น RAM หรือ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน)
โรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลรามคำแหง
Market Cap. 54,900 ล้านบาท
ผลประกอบการปี 2564 รายได้รวม 13,233 ล้านบาท (+61.53%) กำไรสุทธิ 4,192 ล้านบาท (+563.29%)
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในรอบปี (ม.ค. – มี.ค. 2565) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +18.83%

5. หุ้น BCH หรือ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)
โรงพยาบาลในเครือ ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์, โรงพยาบาลเวิลดิ์เมดิคอล และโรงพยาบาลการุญเวช
Market Cap. 50,872 ล้านบาท
ผลประกอบการปี 2564 รายได้รวม 21,533 ล้านบาท (+138.69) กำไรสุทธิ 6,846 ล้านบาท (+457.03%)
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในรอบปี (ม.ค. – มี.ค. 2565) ปรับตัวเพิ่มขึ้น +4.62%

โรงพยาบาล

วิธีวิเคราะห์หุ้นโรงพยาบาล

ช่วงที่ผ่านมาหุ้นโรงพยาบาลถือว่าสร้าง performance โดดเด่น และมีโอกาสการเติบโตรออยู่ในอนาคตจากเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพ สำหรับใครที่สนใจหุ้นกลุ่มนี้ เราขอสรุป 5 สิ่งที่ควรรู้ก่อนเข้าลงทุน ดังนี้ 1.  ความสามารถในการให้บริการ (Capacity) เป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงขนาดของโรงพยาบาล และโอกาสเพิ่มรายได้ในอนาคตว่าเหลืออีกมากน้อยแค่ไหน

2. อัตราการครองเตียง (Utilization Rate) คือ อัตราการใช้บริการของผู้ป่วย ซึ่งคำนวณจากจำนวนเตียงหรือจำนวนห้องให้บริการ เทียบกับจำนวนผู้ป่วยจริง ค่า Utilization Rate ยิ่งสูงยิ่งดี

3. สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติ เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีนโยบายโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน การที่เรารู้ว่าเขามีลูกค้าหลักเป็นใคร จะช่วยให้สามารถเลือกลงทุนกับโรงพยาบาลได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

4. ค่ารักษาพยาบาลต่อหัว ตัวเลขนี้ยิ่งสูงยิ่งดี แสดงว่าโรงพยาบาลมีกลยุทธ์จับกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพสูง

5. จำนวนโควต้าประกันสังคม ถือเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของโรงพยาบาลเอกชน เพราะเป็นตัวกำหนดจำนวนผู้ป่วยคร่าวๆ ที่จะเข้ามาใช้บริการในแต่ละปี

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องระวังของการลงทุนหุ้นโรงพยาบาลช่วงนี้ คงเป็นเรื่องมูลค่าของหุ้น เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลเป็นกลุ่มที่ตลาดให้ความคาดหวังสูง จาก P/E ที่ค่อนข้างพรีเมียม และด้วยความแพงนี้จึงต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าจะซื้อเพื่อหวังการเติบโตต่อเนื่อง หรือจะรอต่อให้ราคาลดลงมาระดับที่จับต้องได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน