Stock - Finance

ตรวจภูมิคุ้มกัน ‘หุ้นแบงก์’ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ยอดทะลุ 1 ล้านล้านบาท

ตรวจภูมิคุ้มกัน “หุ้นแบงก์” เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ยอดทะลุ 1 ล้านล้านบาท

ในช่วงก่อนหน้านี้ หนี้ครัวเรือนของประชาชนชาวไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้ธน่าคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถบริหารจัดการหนี้สินจนผ่านพ้นวิกฤติต่อไปได้ อาทิ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการรวมหนี้ มาตรการพักหนี้รายย่อย คลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ต่างๆ ของแบงก์ชาติ กำหนดจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นปี 2566 นี้ โดยเฉพาะการเข้าไปเร่งปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีความเปราะบางจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้มีโอกาสที่หนี้ค้างชำระจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวถึงภาพรวมหนี้สินครัวเรือนไทย ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรไตรมาส 3 ปี 2566 ว่าสินเชื่อที่อยู่ในข้อมูลของเครดิตบูโรที่ 13.5 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 1.05 ล้านล้านบาท หรือ 7.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหากจาก 1.03 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่วนหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเพิ่มมาอยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท

shutterstock 1917115892

หากดูข้อมูลสินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่จะหมดอายุมาตรการในสิ้นปีนี้ ทำให้คาดว่าในระยะข้างหน้าอาจเห็นยอดปรับโครงสร้างหนี้ทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาททีเดียว

ประเด็นข้างต้นถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลของการลงทุนในหุ้นธนาคารพาณิชย์ (Bank) เพราะเป็นสิ่งที่กลุ่มธนาคารดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้มาตลอด ภายใต้การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบันมี 4 ธนาคาร ที่เปิดเผยข้อมูลมูลหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของแบงก์ชาติอย่างเป็นทางการ ได้แก่

1. SCB: บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566 มีมูลหนี้ภายใต้ CDR ราว 11% – 12% ของพอร์ตสินเชื่อ

2. TTB: ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566 มีมูลหนี้ภายใต้ CDR ราว 11% ของพอร์ตสินเชื่อ

3. KBANK: ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566 มีมูลหนี้ภายใต้ CDR ราว 6.8% ของพอร์ตสินเชื่อ

4. BAY: ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566 มีมูลหนี้ภายใต้ CDR ราว 6% ของพอร์ตสินเชื่อ

หมายเหตุ CDR: ช่วยเหลือมากกว่าการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ผ่อนผันการจัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2566 หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า แม้การทำ CDR จะช่วยชะลอการไหลตกชั้นของลูกหนี้ และทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) อยู่ในการบริหารจัดการ แต่การที่ NPL ยังอยู่ในวัฎจักรขาขึ้น และมาจากทุกกลุ่มลูกค้า ซึ่งหากทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คาดหมาย ก็มีโอกาสที่มูลหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือยังมีความเสี่ยง ดังนั้น มองว่าธนาคารที่มีภูมิคุ้มกันสูง หรือบริหารจัดการได้ดีกว่า จะมีโอกาสเผชิญแรงกดดันต่ำกว่ากลุ่ม

shutterstock 2148767543

โดยมองว่าหุ้น BBL หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มี Coverage ratio ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2566 สูงสุดในกลุ่มที่ 283% (ค่าเฉลี่ยกลุ่มอยู่ที่ 181%) นั้นทนทานในสภาวะมรสุมได้ดีกว่ากลุ่ม ขณะที่หุ้น KBANK หรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีการเร่ง Write-off และขาย NPL ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เริ่มเห็นประโยชน์ในงวดนี้ ก็มีโอกาสที่จะเจอปัญหา NPL เบากว่ากลุ่มในปีถัดไป

คำแนะนำการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร เลือก KBANK ชอบเพราะ Coverage Ratio ที่มีพัฒนาการดีขึ้น ประกอบกับได้ SET ESG Rating ที่ AAA ในเชิงราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีผ่านการปรับฐานมากสุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้ PBV ซื้อขายที่ 0.55 เท่า พร้อมคาดอัตราผันผลราว 3.5% ต่อปี

ด้าน TISCO มีจุดเด่นจากแนวโน้ม ROE เฉลี่ย 17% มากสุดในกลุ่ม (ค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 8.6%) ผสานกับ SET ESG Rating AAA อีกทั้งคาดอัตราปันผลสูงสุดในกลุ่มราว 8% ต่อปี ถือว่ามีเสน่ห์มากขึ้นในช่วงดอกเบี้ยผ่าน peak level นอกจากนี้ BBL ราคาหุ้นซื้อขายบน PBV ที่ 0.49 เท่า และอัตราปันผลราว 4% ในเชิง Valuation ถือว่าไม่แพงแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight