Stock - Finance

เจาะธุรกิจ ‘CPALL’ ในกรุงพนมเปญ

CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นอกจากจะเป็นผู้เล่นเบอร์หนึ่งในธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ได้รับสิทธิ์บริหาร 7-Eleven ในประเทศไทยแล้ว รู้ไหมว่ายังเป็นบริษัทที่ได้รับได้รับสิทธิแฟรนไชส์ในการจัดตั้งและดําเนินการร้าน 7-Eleven ในประเทศกัมพูชาและลาวอีกด้วย

กัมพูชาถือว่าเป็นประเทศเป้าหมายหลักของ CPALL หลังได้จัดตั้ง CP ALL (Cambodia) Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CPALL ถือหุ้น 100% และได้รับสิทธิแฟรนไชส์เป็นระยะเวลา 30 ปี ต่ออายุสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 20 ปี ซึ่งบริษัทได้เปิดให้บริการร้าน 7-Eleven สาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ถือเป็นก้าวสำคัญของ CPALL ในการเติบโตสู่ตลาดอาเซียน

ผ่านมาเพียงไม่นาน วันนี้ 7-Eleven ในกัมพูชา มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเป็น 56 แห่งแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในเขตเมืองอย่างกรุงพนมเปญ เมืองเสียมราฐ และเมืองสีหนุวิลล์ โดยประมาณ 75% อยู่ในสถานีบริการน้ำมันปตท. และอีก 25% ถูกเปิดในทำเลที่แตกต่างกัน

ล่าสุด CPALL ได้พานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เยี่ยมชมร้านกิจการ 7-Eleven สาขาในกรุงพนมเปญ ได้แก่ สาขา Phsar Kandal สาขา Riverside และสาขา Grand Phnom Penh เพื่อฉายภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของสังคมเมืองในกรุงพนมเปญ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และโอกาสการเติบโตของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก

shutterstock 2284108107

นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย (KSecurities) จึงสรุปมุมมองต่างๆ ออกมาให้เห็นนักลงทุนเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ในกัมพูชา เนื่องจากยังเป็นตลาดที่ยังมีสัดส่วนการเข้าถึงอยู่ระดับต่ำ และมีแนวโน้มการเติบโตของการบริโภคที่ดี พบว่ามูลค่าขายต่อใบเสร็จโดยเฉลี่ยในกัมพูชานั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมืองไทย

ขณะเดียวกัน CPALL มีความได้เปรียบคู่แข่งในตลาดที่กัมพูชา จากความแตกต่างของสินค้า และระบบการบริหารจัดการที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านระบบการบริหารจากกลุ่มธุรกิจประเทศไทย อีกทั้งยังมีจุดแข็งในเรื่องสินค้าประเภทอาหารที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย

จึงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในกัมพูชาอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะยังมีโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจอีกมาก และ CPALL ได้ตั้งธุรกิจในกัมพูชาเร็วเพียงพอที่จะรองรับการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประเมินว่าปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดของโมเดิร์นเทรดมีสัดส่วนเพียง 10% ของตลาดอาหารและเครื่องดื่มในกัมพูชา

แต่ความท้าทายของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในกัมพูชา หนึ่งคือการแข่งขันระหว่างผู่เล่นหลักในปัจจุบัน และสองคือช่องว่างด้านราคาระหว่างร้านค้าปลีกสมัยใหม่กับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม เนื่องจากยังมีการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ทำให้ร้านค้าปลีกดั้งเดิมสามารถขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่า 20-30% แต่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลง

นอกจากนี้ CPALL ยังมีธุรกิจ CASH & CARRY ของ MAKRO ในกัมพูชาด้วย ซึ่งเปิดสาขาแรกตั้งแต่ปี 2560 และเป็นร้านค้าปลีกในรูปแบบขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา สำหรับลูกค้าหลักเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาสินค้าคุณภาพและสินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากไทย โดย MAKRO เตรียมเปิดสาขาใหม่อีก 1 แห่ง ในกลุ่มพนมเปญภายในปี 2566

shutterstock 1712549431

เราจะเห็นว่าการรุกขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของ CPALL เป็นกลยุทธ์ที่ตอบคำถามของนักลงทุนได้ดีเลยว่า CPALL จะสร้างการเติบโตในอนาคตได้อย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้เมืองไทยมี 7-Eleven แทบจะทุกมุมตึกแล้ว

CPALL มีแผนเดินหน้าขยายสาขาเครือข่ายร้านค้าในกัมพูชาให้ได้ถึง 100 สาขาภายในปี 2566 นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดสาขาแรกในประเทศลาว โดยตั้งเป้าว่าปีแรกนี้จะเปิด 4-5 สาขาในเมืองหลัก เช่น เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจังหวัดใหญ่ ๆ หลังจากที่ผ่านมามีการชะลอไว้ เนื่องจากลาวมีปัญหาทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่เมื่อมองว่าเมื่อปัญหาเงินเฟ้อและเงินกีบอ่อนค่าได้คลี่คลายลง บริษัทจึงจะกลับมาเริ่มเดินหน้า ซึ่งคาดว่าจะเปิดสาขาแรกได้ภายในกลางปีนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน