Politics

สงกรานต์กทม. ‘เลิกดื่ม เลิกสูบ ลดเสี่ยง’ หลังเลิกงานแนะสังเกตอาการ 7 วัน

คอนเซ็ปต์ สงกรานต์กทม. ‘เลิกดื่ม เลิกสูบ ลดเสี่ยง’ เข้มทั้งโควิดและแอลกอฮอล์ หลังเลิกงานแนะสังเกตอาการ 7 วัน

นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุม คณะอนุกรรมการ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565

สงกรานต์กทม.

ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทาง การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับ แนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ของกระทรวงสาธารณสุข และมติของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และลดอุบัติเหตุทางถนน (Free Alcohol Free Covid-19) โดยบูรณาการความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

ซึ่งในปีนี้ ศบค. ได้อนุญาตให้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ในสถานที่ควบคุมได้ รวมทั้งให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting แต่ห้ามมีการประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ขณะที่พื้นที่สาธารณะ เช่น ท้องถนน งดเล่นน้ำ และหลังจากร่วมเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนสังเกตอาการตนเอง 7 วัน

สงกรานต์กทม.
นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กรุงเทพมหานคร

รณรงค์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และป้องกันการระบาดของโควิด

สำหรับในปีนี้ กำหนดจัดงานสงกรานต์กทม.เพียงจุดเดียว ที่บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ ลักษณะการจัดงานจะเรียบง่ายเน้นความเป็นไทยและปลอดภัย โดยการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานบริเวณดังกล่าว ให้ประชาชนได้สักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ผู้เกี่ยวข้อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์การจัดงานสงกรานต์แบบปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิด “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เลิกดื่ม เลิกสูบ ลดเสี่ยง”

พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ร้านค้าและประชาชน ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2554 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยเน้นย้ำควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามจำหน่ายโดยมีการส่งเสริมการขายและการโฆษณาในสื่อทุกประเภท มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามวันและสถานที่ที่กฎหมายกำหนด เปิดและปิดสถานบริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

 รวมถึงสื่อสารให้ความรู้ ในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ที่มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ผู้ดื่ม ละเลยต่อการระมัดระวังตัว และการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสช่วงสงกรานต์

ทั้งนี้ กทม.ได้พิจารณาการจัดงานสงกรานต์ภายใต้รูปแบบการจัดงานวิถีใหม่ (New Normal) และกำหนดแนวทางปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

สงกรานต์กทม.

สงกรานต์กทม. กฏเข้มก่อนเข้างาน

– กำหนดจุดเข้า-ออก และจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด

– คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมงาน

– ตรวจสอบหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ อย่างน้อย 3 เข็ม

– ผลตรวจ ATK เป็นลบ ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนร่วมงาน

– จัดเตรียมพื้นที่สำหรับแยกผู้มีประวัติเสี่ยงหรือมีไข้

– ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ โดยใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”

การกั้นพื้นที่โดยรอบบริเวณการจัดงาน เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณผู้เข้าร่วมงาน ไม่เกิน 800 คน ทั้งนี้หากมีผู้เข้าร่วมงานเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมงานนั่งจุดพักคอยที่จัดเตรียมไว้ และรอเรียกตามลำดับคิว โดยมีการจัดที่นั่งให้เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร

การกำหนดให้เจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมงานทุกคน สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การจัดจุดบริการแอลกอฮอล์เจล สำหรับให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง

ในส่วนของการขายสินค้า ให้จัดทำแผงกั้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า จัดโซนสำหรับจำหน่ายอาหาร โดยให้ผู้ปรุงอาหารหรือจำหน่ายอาหารทุกคนสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย ถุงมือ อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย และให้ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหารหรือตักอาหาร

รวมทั้งทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบเป็นระยะ มีการจัดพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับประชาชน โดยเว้นระยะห่าง และมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะอาหาร อย่างไรก็ตาม การจัดงานฯ ในปีนี้ จะไม่ให้มีการเล่นสาดน้ำในบริเวณพื้นที่จัดงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo