COVID-19

สถานพยาบาลเอกชนได้เฮ! โฆษณาจองวัคซีนโควิดได้ สบส.ถือไม้เรียวคุม 5 แนวทาง

โฆษณาจองวัคซีนโควิดได้ กรม สบส. ไม่ห้าม แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกกฎหมาย ขออนุมัติโฆษณายาจาก อย. พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการโฆษณา 5 ข้อ ป้องกันโฆษณาโอ้อวดเกินจริง

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานพยาบาลเอกชน ที่ร่วมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถ โฆษณาจองวัคซีนโควิดได้ แต่ต้องทำตามแนวทางที่วางไว้ และห้ามโฆษณาเกินจริง จากก่อนหน้าที่มีการ ห้ามโฆษณาจองวัคซีน เนื่องจากยังไม่มีกำหนดการนำเข้าวัคซีน ที่ชัดเจน

โฆษณาจองวัคซีนโควิดได้

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน การพัฒนาวัคซีน ป้องกันโรคโควิด 19 มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยภาครัฐก็มีการทยอยให้บริการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคเอกชนบางส่วน ก็ได้แสดงความจำนง ที่จะนำเข้าวัคซีนทางเลือก มาให้บริการแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศ ได้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต่อโรคติดต่ออันตรายนี้

สำหรับภาครัฐ ยินดีที่จะให้การสนับสนุนภาคเอกชน ในการให้บริการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการที่สถานพยาบาลเอกชน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เข้ามาให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ย่อมส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชน ในการรับวัคซีนได้อย่างครอบคลุม และรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการ โฆษณาโอ้อวดเกินจริง และคุ้มครองประชาชน ให้ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ มาตรฐาน จากสถานพยาบาลเอกชน ในการโฆษณา หรือประกาศ อันเป็นประโยชน์ทางการค้า ของสถานพยาบาล จึงต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาตเสียก่อน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ในการโฆษณาจองวัคซีนโควิด-19 นั้น กรม สบส.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดแนวทาง ในการโฆษณาเบื้องต้นไว้ 5 ข้อดังนี้

1. วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะโฆษณา ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา และได้รับการอนุมัติให้โฆษณายา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

2. โฆษณา หรือประกาศ เกี่ยวกับสถานพยาบาล กรณีการจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต้องยื่นขออนุมัติจากผู้อนุญาต ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือ กรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หากได้รับการอนุมัติแล้ว จึงสามารถเผยแพร่โฆษณาได้

3. หากสถานพยาบาล มีการเรียกเก็บเงินมัดจำ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากประชาชน หากไม่สามารถดำเนินการ ตามถ้อยคำที่ปรากฏในโฆษณา จะต้องคืนเงินมัดจำ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เต็มจำนวน

4. การกำหนดระยะเวลาในการฉีดวัคซีน ต้องกำหนดระยะเวลา ให้ใกล้เคียงที่จะได้รับวัคซีนมาให้บริการจริงมากที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ประชาชน เกิดความคาดหวังเกินจริง กับระยะเวลา และป้องกันมิให้ประชาชน ต้องรอคอยเนิ่นนาน จนเกินสมควร

5. ในการโฆษณาทุกครั้ง ต้องระบุข้อความ “รัฐบาลได้มีการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย” และ “ส่วนการจองวัคซีนโควิด 19 ของสถานพยาบาลเอกชน เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ประชาชนสามารถเลือกรับบริการได้ แต่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง” เพื่อให้ประชาชน ได้พิจารณาตัดสินใจ ก่อนรับบริการ

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา การโฆษณาจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของสถานพยาบาลเอกชน มิได้มีการขออนุมัติอย่างถูกต้อง กรม สบส.จึงต้องมีคำสั่ง ให้ระงับการโฆษณา ด้วยเนื้อหาของโฆษณา ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัตินั้น อาจจะมีข้อความที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ

ประกอบกับที่ผ่านมา ภาคเอกชน ก็ยังไม่มีกำหนดเวลาของวัคซีน ที่เข้ามาอย่างชัดเจน และบางครั้งก็มีการเก็บค่ามัดจำ ค่าจอง ซึ่งเป็นภาระของภาคประชาชน และอาจจะทำให้เกิดความคาดหวังเกินจริง และร้องเรียนภายหลังได้ กรม สบส.จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชน ที่ต้องการโฆษณา หรือประกาศ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ยื่นคำขออนุมัติโฆษณา หรือประกาศ ให้ถูกต้องทุกครั้ง

ทั้งนี้ โฆษณา หรือประกาศฯ ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ย่อมสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ผู้รับบริการ ช่วยลดปัญหาการฟ้องร้อง และป้องกันการถูกดำเนินคดี จากเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน ด้านธุรกิจสถานพยาบาล ที่กำหนดให้การโฆษณา หรือประกาศฯ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใด มีข้อคำถาม หรือต้องการคำแนะนำ ในการขออนุมัติโฆษณา หรือประกาศ ของสถานพยาบาล สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ กองกฎหมาย กรม สบส.ผ่านสายด่วน 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo