COVID-19

เปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ‘หมอประสิทธิ์’ หวั่นเปิดทางสายพันธุ์ใหม่เข้าประเทศ

เปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ “หมอประสิทธิ์” ห่วงเป็นช่องทางสายพันธุ์ใหม่เข้าไทย ย้ำวัคซีนไม่ครอบคุลมทุกสายพันธุ์ ชี้ภาพรวมฉีดวัคซีนทั่วโลก ยังกระจุกในประเทศรายได้สูง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า แผนการ เปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยส่วนตัวมองว่ายังเร็วไป ขอย้ำว่า วัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ แม้ว่าส่วนใหญ่ยังครอบคลุม แต่หากสายพันธุ์แปลกใหม่เข้ามา แล้ววัคซีนไม่ครอบคลุม กลไกการจำกัดพื้นที่ หรือการควบคุมไม่ได้คู่ขนาน ทุกคนมองแค่ฉีดวัคซีนครบก็ปล่อย เป็นสิ่งที่น่ากลัว หากเกิดการระบาดใหม่ในภูเก็ต จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในภูเก็ตอีก

เปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก็คงพิจารณาในส่วนตรงนั้แล้ว ในการเปิดภูเก็ตเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา โดยนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้มาก เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน และเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ที่ห่วงไม่ได้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน แต่ห่วงความพร้อมของจังหวัด ในการรองรับระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะหากมีคนนอกพื้นที่เข้ามา และมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามามากกว่า

“สิ่งที่ห่วงมาก คือ กระบวนผ่อนคลาย ยังไม่น่ากลัวเท่า ถ้าเรายังไม่สามารถป้องกัน ไม่ให้คนที่เดินทางเข้าประเทศ ผ่านทางเส้นทางธรรมชาติเข้ามา ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาบ่อยครั้งอาจเจอสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งน่าห่วงมาก ส่วนกระบวนการที่ผ่อนคลายเราก็ต้องเฝ้าจับตา และพร้อมให้ข้อเสนอแนะ หากเห็นว่าเร็วหรือมากเกินไป ส่วนตัวยังย้ำสุขภาพต้องมาก่อนเศรษฐกิจ”ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

โดยปกติการเดินทางเข้ามาประเทศไทย ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่หากมองว่าต้องการให้เป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ อาจมีการปรับให้ไม่ต้องถึง 14 วันให้สั้นกว่านั้น หากเป็นเช่นนั้น ถ้าเป็นบางสายพันธุ์ที่ 14 วันก็อาจไม่พอ อย่างจีนกำหนด 21 วันด้วยซ้ำ คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถ้าไม่ลองไม่รู้ แต่ถ้าลองแล้วเกิดบทเรียนก็ขอให้เป็นบทเรียน

shutterstock 1642467388

ทั้งนี้ แม้จะมีการฉีดวัคซีนในอัตราสูง แต่ปัจจัยเรื่องสายพันธุ์ ก็มีผลต่อการเพิ่มขึ้น ของอัตราป่วยได้ ปัจจุบันมี 4 สายพันธุ์ที่ต้องระวังมาก คือ

  • สายพันธุ์แอลฟ่า (อังกฤษ) ที่กลายพันธุ์ตรงตำแหน่ง N501Y ทำให้แพร่เร็ว กระจายไปแล้วกว่า 50% ทั่วโลก และในอังกฤษเองกำลังจะกลายพันธุ์อีกจุดหนึ่ง
  • สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) กลายพันธุ์ตำแหน่งเดียวกับแอลฟ่า จึงแพร่ไปแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และยังกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K หลุดภูมิคุ้มกันปกติ จนต้องระวังเรื่องผลของวัคซีน
  • สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) กลายพันธุ์ที่จุด L452R ทำให้แพร่เร็วยิ่งกว่าแอลฟ่าและเบต้า
  • สายพันธุ์แกรมม่า (บราซิล) กลายพันธุ์ตำแหน่งเหมือนกับสายพันธุ์เบต้า ซึ่งอังกฤษแม้จะฉีดอย่างน้อย 1 เข็มสูงถึง 60% และสถานการณ์ดีขึ้น

แต่เมื่อพบทุกสายพันธุ์ เข้าไปในอังกฤษ กลับพบอัตราติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ต้องออกมาประกาศเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการออกไปก่อน เป็นจุดที่ทำให้เห็นว่า การเปิดประเทศเร็ว หากคุมไม่ดี อาจมีสายพันธุ์อื่นหลุดเข้ามา

ดังนั้น มาตรการป้องกันส่วนบุคคล ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ที่ไม่อาจลดระดับได้ ส่วนวัคซีนยังคงเป็นทางรอด ที่ประชาชนต้องรับให้มาก และเร็วที่สุด

cell virusโควิดใน ม ๒๑๐๖๑๖

ขณะที่ องค์การอนามัยรายงานว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ครอบคลุมสายพันธุ์กลายพันธุ์แรงสุดขณะนี้ คือ เดลต้า (อินเดีย) ที่ทั้งแพร่เร็ว และหลบภูมิคุ้มกัน โดยคลุมได้ถึง 60% ขณะที่ซิโนแวค คลุมได้ถึง 50% ดังนั้น วัคซีนยังมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้

ส่วนภาพรวมสถานการณ์โควิดทั่วโลก พบว่า ดีขึ้น ปัจจัยมาจากการฉีดวัคซีนมากและเร็ว ขณะนี้มีหลายประเทศ ที่ประชากรได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มากกว่า 50% ของประชากร ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ อิสราเอล และอีกหลายประเทศ ที่มียอดฉีดเพิ่มขึ้น จนเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า เมื่อได้รับวัคซีนที่มากพอ จะช่วยลดอัตราป่วยรุนแรง ลดเสียชีวิต และลดจำนวนการติดเชื้อใหม่ได้จริง

นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก แสดงให้เห็นว่า จะเริ่มเห็นผลของวัคซีน เมื่อประชากรในประเทศนั้น ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 25% ซึ่งภาพรวมทั่วโลก ฉีดแล้วมากกว่า 25% แต่วัคซีนยังกระจุก อยู่ในประเทศรายได้สูง ส่วนประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ยังมีอัตราได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มฉีดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จนถึงปัจจุบันฉีดไปแล้วกว่า 6 ล้านโดส แต่มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 6% มีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสยังอยู่ที่ 2.2% ทำให้ยังไม่เห็นผลของวัคซีน ในการลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo