Politics

‘ยุทธพงศ์’ ชี้เหตุ ‘ปรีดี’ ลาออก ถูกบีบต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

“ยุทธพงศ์” อ้าง “ปรีดี” โดน “บิ๊กรัฐบาล” บางคนบีบ ต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี  โดยใช้ ม.44 เลยตัดสินใจลาออก เพราะไม่อยากทำเรื่องผิดกฎหมาย 

วันนี้ (3 ก.ย.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้นายปรีดี ดาวฉาย ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นเพราะนายปรีดี ไม่อยากทำเรื่องผิดกฎหมาย คือ การต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ทั้งๆ ที่เหลือเวลาในสัญญาเดิมอีก 10 ปี และใช้คำสั่ง ม.44 ในการอ้างต่อสัญญา

ยุทธพงศ์ ปรีดี 01

“ผมทราบมาว่า มีบิ๊กในรัฐบาล มาบีบให้ท่านรัฐมนตรีปรีดี เซ็นอนุมัติเห็นชอบ ให้มีการต่อขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี เข้าสู่การพิจารณา ของ ครม.ในสัปดาห์หน้า”

นายยุทธพงศ์ ขยายความด้วยว่า เหตุที่ตนเชื่อเช่นนั้น เพราะเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เข้าไปยื่นหนังสือถึง นายปรีดี  เรื่องขอให้ทบทวนพิจารณา มีความเห็นในทุกประเด็น เกี่ยวกับร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้ถูกต้อง ชัดเจน อย่างรัดกุม รอบคอบ และระมัดระวังในการดำเนินการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนส่วนรวม เลขรับที่ สร.กค.7676 ลงวันที่ 27 สิงหาคม โดยมีประเด็นที่ส่อความไม่โปร่งใส และอาจจะผิดกฎหมายหลายเรื่อง

ประเด็นที่ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 คือ

1. คำสั่ง ม.44 นี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์เอกชนเพื่อขยายสัมปทานให้ทั้งที่ไม่จำเป็น หลบหลีกการประมูลในอนาคต โดยใช้ข้ออ้างการให้เอกชน แบกหนี้ค่าก่อสร้างแทน และปรับลดค่าโดยสารลง ทั้งที่รัฐมีวิธีแก้มากมาย และสัมปทานก็เหลืออีกตั้ง 22 ปี (จบ 2585)

2. เป็นการหนี้ พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ.2562 อย่างชัดเจน หากกระทรวงมหาดไทย จะแก้ปัญหา ก็ต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ไปศึกษา และคัดเลือกตามขั้นตอน ไม่ใช่อ้างว่า ไม่มีเอกชนรายใดสนใจทำ market sounding เลยใช้ ม.44 ให้เจรจากับเอกชนรายเดิม แล้วถือว่า เป็นการทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนโดยอนุโลม

3. เป็นการไม่เคารพต่อสภา ที่มีรายงานการศึกษาแล้วว่า ไม่เห็นด้วย แต่กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถชี้แจงได้ หากรัฐบาลอนุมัติ เท่ากับขัดแย้งกับความเห็นสภา จะเป็นประเด็นที่นำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการร้องเรียน ฟ้องร้องในคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลปกครอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo