Politics

ย้อนดูดราม่าการเมืองไทย เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ!

ย้อนดูดราม่าการเมืองไทยปี 2566 การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ!

ย้อนดูดราม่าการเมืองไทยในปี 2566 ซึ่งถือว่าเป็นปีสำคัญที่มีเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงมากมาย รวมถึงการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ เลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี แต่อย่างที่บอกว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์มันจะธรรมดาไม่ได้ เพราะแม้ “พรรคก้าวไกล” จะชนะเลือกตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยคือ เศรษฐา ทวีสิน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2566 จะมีอะไรอีก #TheBangkokInsight รวบรวมไว้ให้แล้ว

ดราม่าการเมืองร้อนปี 2566

“ก้าวไกล” ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย แต่ “เศรษฐา” ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศไทยที่ได้มีการเลือกตั้งครั้งแรก หลังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยาวนานมาเกือบ 10 ปี การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 “พรรคก้าวไกล” ได้รับคะแนนเสียงไปอย่างถล่มทลาย หลังการเลือกตั้ง “พรรคก้าวไกล” พยายามจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการรวมพรรคอื่น ๆ เพื่อตั้งรัฐบาลด้วยกันทั้งหมด 8 พรรค รวมได้ 312 เสียง

ทั้ง 8 พรรคร่วมลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งถือเป็นวันครบรอบรัฐประหารในปีที่ 9 แต่ใครจะรู้!! แม้ภาพการจับมือตั้งรัฐบาลอย่างเหนียวแน่น แต่หนทางของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ช่างมืดมน!!

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 “รัฐสภา” โหวตนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก พรรคร่วม MOU เสนอชื่อ “พิธา” แต่ทุกอย่างจบลงผิดหวัง เมื่อ “พิธา” ได้คะแนนเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียงถึง 199 เสียง แม้พรรคร่วม MOU จะจับมือกันแน่น แต่ก็ไม่สามารถทานแรงต้านของกลุ่ม ส.ว. ได้

จากนั้นวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 มีการนัดประชุมรัฐสภาให้โหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 มีความพยายามเสนอชื่อ “พิธา” อีกครั้ง แต่ทุกอย่างก็จบลง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องเรื่องหุ้นไอทีวี มีคำสั่งให้ “พิธา” หยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. และต้องเดินออกจากที่ประชุมทันที

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 “พรรคก้าวไกล” ประกาศส่งไม้ต่อในการจัดตั้งรัฐบาลให้กับ “พรรคเพื่อไทย” และจากนั้นเพื่อไทยจึงเริ่มเดินสายคุยกับพรรคการเมืองนอก 8 พรรคร่วม MOU ก่อนที่จะออกมาประกาศว่าไม่สามารถให้ “พรรคก้าวไกล” ร่วมรัฐบาลได้ ทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้านไปทันที

จากนั้นวันที่ 21 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทย แถลงการจัดตั้งรัฐบาลพรรค และการแบ่งโควตารัฐมนตรี โดยรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมีทั้งหมด 11 พรรค รวม 314 เสียง

บทสรุปการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์จบลงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งสุดท้าย ที่ประชุมมีมติ 482 ต่อ 165 เห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยคะแนนโหวตครั้งนี้มีเสียงจาก สว. ถึง 152 เสียง และยังมี สส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แหกมติพรรคอีก 16 เสียง ทำให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

“ทักษิณ ชินวัตร” กลับไทยครั้งแรกในรอบ 17 ปี แต่ไม่ต้องนอนคุก!!

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทวีตข้อความผ่าน X โดยระบุว่า พรุ่งนี้ 9 โมงเช้า ผมขออนุญาตกลับไปอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยและร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทยด้วยคนนะครับ หลังจากก่อนหน้านี้ประกาศเลื่อนเดินทางกลับบ้านเพราะต้องไปตรวจร่างกาย

09.30 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ เดินทางเหยียบแผ่นดินไทย โดยสวมสูทสีกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีขาว และเนคไทสีแดง เข้าถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคุมตัวนายทักษิณ ออกจากสนามบินดอนเมือง เดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฎีกาฯ บังคับโทษ 3 คดี นับโทษรวมจำคุก 8 ปี และราชทัณฑ์ได้ตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที

เวลา 00.20 น. วันที่ 23 สิงหาคม 2566 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้นำตัวนายทักษิณ ส่งโรงพยาบาลตำรวจ หลังจากมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ หลังจากอยู่ที่แดน 7 เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ 12 ชั่วโมง และยังพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลจนถึงวันนี้

ระหว่างที่นายทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษให้ จากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกิดกระแสคำถามในสังคมอย่างมากถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ขณะที่โรงพยาบาลตำรวจออกมาระบุว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้บุคคลเข้าพื้นที่การควบคุม ชี้เป็นพื้นที่ควบคุมที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ ตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ หลังจากมีกลุ่มคนเรียกร้องที่จะเข้าไปในพื้นที่ และเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมอยู่จนถึงวันนี้

ประยุทธ์ ยิ้ม 23662

ปิดฉาก 9 ปี นายกรัฐมนตรีชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” บริหารประเทศไทยมาต่อเนื่องยาวนานจนเกือบ 9 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คนที่ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มบัญชาการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 รวมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 8 ปีกับอีก 363 วัน

เมื่อปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ก่อรัฐประหาร หลังจากอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมากว่า 5 ปีก็ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และสร้างกลไกที่นักวิชาการให้คำนิยามว่า “การสืบทอดอำนาจ” โดยให้ สว.​ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารร่วมเลือกนายกฯ ด้วย

ในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง โดยมี “พรรคพลังประชารัฐ” ที่จัดตั้งมาเพื่อ “บิ๊กตู่” รองรับ และจากการเลือกตั้งครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จอีกครั้ง ต่ออายุการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 อีก 4 ปี และ พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถประคับประคองเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” จนจบสมัย และมีการเลือกตั้งในปี 2566

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงสนามชิงเก้าอี้ผ่านพรรครวมไทยสร้างชาติก็แพ้หลุดลุ่ยให้กับพรรคก้าวไกล และผลจากการโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ประเทศไทยจึงเปลี่ยนผ่านอำนาจการบริหารประเทศจาก พล.อ. ประยุทธ์ ไปถึง “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

เงินบริจาคพรรคการเมือง

เปิดคดีฉาวก้าวไกล จาก “วิกฤติ” สู่ “วิกฤติกว่า”

ปี 2566 ของพรรคก้าวไกล เหมือนนั่งอยู่บนรถไฟเหาะ ที่ได้ขึ้นไปจุดสูงสุด คือ การชนะการเลือกตั้งกวาดคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น แต่แล้วก็ตกดิ่งลงมา ทั้งกรณีที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ สส. ในวันโหวต “นายกรัฐมนตรี” ทำให้ต้องเดินออกจากที่ประชุมทันที “พรรคก้าวไกล” ต้องส่งไม้ต่อจัดตั้งรัฐบาลให้ “พรรคเพื่อไทย” จนท้ายที่สุดก็ถูกเขี่ยจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปเป็นฝ่ายค้านแบบบาดใจ

ท่ามกลางเรื่องร้อนต่อเนื่องให้ต้องปวดหัว “พรรคก้าวไกล” ดันมีปัญหาภายใน ซึ่งเป็นเรื่องฉาว ๆ ของ 2 สส. ที่ถูกตราหน้าเรื่อง “คุกคามทางเพศ” แม้กรรมการบริหารพรรค และ สส.พรรค จะออกมาดับประเด็นร้อนด้วยการลงโทษ สส. ทั้งสองคน โดยรายแรกคือ “วุฒิพงศ์ ทองเหลา” สส.ปราจีนบุรี ที่ประชุมร่วม สส.และกรรมการบริหารพรรค มีมติเสียงข้างมากให้ “ขับออก” พ้นสมาชิกพรรคก้าวไกล

และรายที่สองคือ “ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” สส.กทม. แม้ที่ประชุมร่วม สส.และกรรมการบริหารพรรคจะมีมติควรให้ขับออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกล แต่มติดังกล่าวมีเสียงให้ขับออกไม่ถึง 3 ใน 4 ดูเหมือนเรื่องจะจบ แต่ “ไชยามพวาน” ยังดิ้นไม่หยุดจนพรรคต้องลงมติเป็นครั้งที่สอง มีมติเอกฉันท์ขับออกจากสมาชิกพรรค

ขณะเดียวกัน “พรรคก้าวไกล” ยังมีอีกหลายกรณีที่ยังต้องสู้ในศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกหลายคดี ต้องจับตาดูว่าปีหน้าฟ้าใหม่จะใจดีกับพรรคก้าวไกลบ้างมั้ย?

เฉลิมชัย 1

ดราม่าเดือดเลือก “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์”

นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายอมรับชัด ๆ ว่า ปี 2566 ถือเป็นขาลงของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นช่วงเวลาที่มีปัญหา พรรคไม่เคยตกต่ำอย่างนี้มาก่อน แพ้เลือกตั้งในหลายพื้นที่ ได้ สส.บัญชีรายชื่อ เพียง 3 คน และ 77 ปีของพรรคไม่เคยมีที่สมาชิกละเมิดข้อบังคับพรรค แต่ก็เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันที่มี สส. ได้โหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ใช่มติของพรรค

จากความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้ง สู่การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เกิดดราม่าต่อเนื่อง หลังจากองค์ประชุมล่มถึง 2 ครั้ง และวันที่ 9 ธันวาคม 2566 การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 3 พรรคมีมติเลือก “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 88.5 %

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค เป็นผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่หลังจากการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนายเฉลิมชัยเป็นเวลา 10 นาที นายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และยังยืนยันว่าจะพร้อมช่วยงานพรรคหากมีการร้องขอ จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้เดินจะออกจากห้องประชุม และเดินทางกลับทันที

401659462 6780902738665164 3766258566583150639 n

เมื่อ “ป๋าเฉลิม” งอน “ทักษิณ” และจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

ในช่วงที่การเมืองกำลังวุ่นวาย สถานการณ์ใน “พรรคเพื่อไทย” ก็วุ่นวายไม่ต่างกัน เมื่อ “เฉลิม อยู่บำรุง” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อาวุโสของพรรคได้ออกมาโวยวายว่า “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีบ่นลับหลังว่า “เฉลิม” เป็นคนกวนโอ๊ยทั้งพ่อทั้งลูก เลยไม่ให้ตำแหน่ง

จน “เฉลิม” ก็ออกมาประกาศตัดความสัมพันธ์ว่า “คุณเข้าใจผิด ผมไม่ได้ร่วมรัฐบาลกับคุณ ผมมีความสุข พูดอะไรระมัดระวังบ้าง คุณใหญ่โตได้ในพรรคของคุณ คุณไล่ผมออกสิ นึกถึงแก้คดี 8 คดีให้คุณแล้ว ผมคิดว่าคุณจะเปลี่ยนนิสัย แล้วเวลาใช้คำพูดถึงผม อย่าเอ่ยมือเอ่ยเท้ามันไม่สุภาพ และผมก็มีมือมีเท้าที่จะเอ่ยถึงเหมือนกัน ผมจะหันหลังให้คุณตลอดชีวิต ที่พูดมาทั้งหมดถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต ที่ผ่านมาผมไม่ได้สนิทกับครอบครัวนายทักษิณ ผมสนิทเพียงนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เท่านั้น แต่หลังจากนี้คงไม่มีอะไรต้องพูดกันอีก มันสายเกินไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำยืนยันว่าการบ่นถึง “เฉลิม” ของ “นายใหญ่ทักษิณ” เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะเจ้าตัวยังอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจา โดยอ้างว่าป่วยหนักจะเจอกับผู้คนได้อย่างไร?

แต่ดราม่าดังกล่าวก็จบลงเมื่อ “วัน อยู่บำรุง” ลูกชายของ “เฉลิม” โพสต์ภาพถ่ายของ “แพทองธาร ชินวัตร” ในฐานะลูกสาวสุดที่รักของนายทักษิณ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยร่วมกับ “เฉลิม” เป็นอันจบดราม่าด้วยประการทั้งปวง

แพทองธาร เพื่อไทย 27106602

“อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าที่ “นายกรัฐมนตรี”

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย (พท.) ลงมติเลือก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งไม่ได้เหนือความคาดหมายจากคอการเมืองทั้งหลายเท่าไหร่นัก การขึ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นการปูทางสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ในอนาคต

“แพทองธาร” เข้ามามีบทบาทของกับงานการเมืองอย่างชัดเจน ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่ง ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ของพรรคเพื่อไทย ก่อนขึ้นเป็น หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำทัพหาเสียงในฐานะ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรค และยอมถอยเพื่อให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และหากวันนึง “แพทองธาร” จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะ “อุ๊งอิ๊ง” ได้สะสมประสบการณ์การทำงานจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้เป็นพ่อ และ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้เป็นอามาอย่างยาวนาน นายทักษิณ เล่าว่า “มีคนถามว่า น้องอิ๊งค์พอจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ถ้าถามผมนะ เขาเป็นได้ดีทีเดียว เขามีลักษณะที่ผมเองอาจจะไม่มี คือมี DNA แม่ ผมเลยเชื่อว่า เขาจะทำได้ดีกว่าผมนะ”

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า อนาคตทางการเมืองของ “แพทองธาร” ที่ก้าวจากหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย สู่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จากนี้มีแนวโน้มสูงว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อ ๆ ไป “แพทองธาร” อาจขึ้นเป็น หนึ่งในทีมรัฐมนตรีใน “รัฐบาลเศรษฐา” เมื่อถึงเลือกตั้งรอบหน้า การจะส่ง “แพทองธาร” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสู้ศึกกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ทีอาจจะลงสนามสู้ศึกเลือกตั้งอีกครั้งได้แบบสบาย ๆ

ชาดา 26126601

ชาดา ไทยเศรษฐ์ มือปราบมาเฟีย

“ชาดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยมือใหม่ป้ายแดงประจำกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลเศรษฐา ได้รับคำสั่งตรงจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” เจ้ากระทรวงมหาดไทย ให้กวาดล้างมาเฟียและอิทธิพลท้องถิ่น จัดทำบัญชีรายชื่อมาเฟียท้องถิ่น การมอบหมายงานครั้งนี้เรียกเสียงฮือฮาจากประชาชนไม่น้อยเพราะมองว่าเป็นการเลือกใช้คนได้ถูกฝาถูกตัวเป็นที่สุด เหมือนการ “ส่งมาเฟียไปปราบมาเฟีย”

“ชาดา” บอกว่า หากจะเริ่มปราบผู้มีอิทธิพล ก็ต้องเริ่มกวาดล้างที่ “อุทัยธานี” จังหวัดของตัวเองก่อน โดยต้องเรียกมาคุยกัน 70-80 กว่าคน ให้อยู่นิ่ง ๆ ทำตัวให้สะอาด ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ลูกน้องผมทั้งนั้น และหากมีปัญหาก็เจอกัน อิทธิพลมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ถ้ามีอิทธิพลแล้วไปทำงานเพื่อบ้านเมือง ช่วยเหลือประชาชน อันนี้ยอมรับได้ และยืนยันว่าจะทำงานสร้างระบบตรวจสอบไม่ยอมให้ใครมาท้าทายอำนาจรัฐ

พร้อมยืนยันว่า การปัญหาผู้มีอิทธิพล 6 เดือนจะเริ่มเห็นผล ภาพจะเริ่มชัดขึ้น เนื่องจากการปราบปรามผู้มีอิทธิพลมีมาหลายครั้งแล้ว เปรียบเสมือนไฟไหม้ฟาง วูบวาบมาหลายครั้ง แต่ผมไม่ต้องการทำงานแบบนี้ จะต้องมีการใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ รวมถึงดูให้เป็นธรรม ขอยกตัวอย่างตามหลักอาชญาวิทยา ในความคิดตัวเองว่า คนไหนถ้าเลิก หรือเลิกจริง ๆ ก็จะให้โล่ แต่ถ้าทำอีกก็จะหนักว่าเดิม 2 เท่า ส่วนใครที่ประพฤติดีเราก็ต้องตอบแทน แต่ถ้าเลว เราก็ต้องจัดการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK