Business

10 ข่าวเด่นเศรษฐกิจ รอบปี 2566 ปีแห่งความท้าทายหลังโควิด

นับถอยหลังต้อนรับปีใหม่ 2567 ย้อนแลหลังภาคเศรษฐกิจปี 2566 ที่ยังคงมีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง TheBangkokInsight ได้รวบรวม 10 ข่าวเด่นเศรษฐกิจรอบปี 2566 มาไว้ให้แล้ว  

เศรษฐกิจ

10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงปี 67

เป็นประจำทุกปี สำหรับ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่จะออกมาเผยผลสำรวจ 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วงประจำปี โดยสำหรับปี 2567 ได้แก่

10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งปี 2567

อับดับ 1 ธุรกิจ E-Commerce, ธุรกิจทำ Content, Youtuber, รีวิวสินค้า และ Influencer

อับดับ 2 ธุรกิจการแพทย์และความงาม ธุรกิจโฆษณา และสื่อออนไลน์ ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสา

อันดับ 3 Social Media และ Online Entertainment ธุรกิจด้านการเงินธนาคาร Fintech การชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี ธุรกิจ Cloud Service และ Cyber Security

อันดับ 4 ธุรกิจจัดคอนเสิร์ต มหกรรมแสดงสินค้า Event ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู, ฮวงจุ้ย) ธุรกิจอัญมณี

อันดับ 5 ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ธุรกิจ Soft Power เช่น ซีรีย์ ภาพยนตร์ ศิลปะ ดนตรี และอาหาร

อันดับ 6 ธุรกิจอาหารเสริม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอล์) ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล

อันดับ 7 ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ธุรกิจโลจิสติกส์ Delivery และคลังสินค้า ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ

อันดับ 8 ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเก

อันดับ 9 ธุรกิจ E-Sport เกมส์ ธุรกิจตลาดเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และที่เกี่ยวข้อง

อันดับ 10 ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง

shutterstock 2151657341

10 อันดับธุรกิจดาวร่วงปี 2567

อับดับ 1 โทรศัพท์พื้นฐาน, ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ CD-VDO, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์

อันดับ 2 ธุรกิจผลิต CD-DVD ที่จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดดิสไดร์ฟ หรือเมมโมรี่ การ์ด, บริการส่งหนังสือพิมพ์

อันดับ 3 ธุรกิจคนกลาง, เครื่องปั้นดินเผา เซรามิก

อันดับ 4 ธุรกิจผลิตสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม

อันดับ 5 ธุรกิจผลิตสารเคมี

อันดับ 6 ร้านถ่ายรูป

อันดับ 7 ร้านขายเครื่องเล่นเกม แผ่นเกม, ธุรกิจทอผ้าจากธรรมชาติ

อันดับ 8 ธุรกิจถ่ายเอกสาร

อันดับ 9 ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้

อันดับ 10 ร้านโชห่วย, ธุรกิจผลิตกระดาษ

หมูเถื่อน ประเด็นร้อนประจำปีพิสูจน์ฝีมือผลงานรัฐบาลเศรษฐา

ปัญหา หมูเถื่อน ถือเป็นปัญหาที่มีการพูดถึงอย่างมากในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการไล่ล่าจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ตั้งแต่หลักแสนกิโลกรัมถึงหลักล้านกิโลกรัม และเป็นหนึ่งในนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งให้จัดการอย่างจริงจังเข้มข้น

ทั้งนี้ มีการประเมินจากแวดวงผู้เลี้ยงสุกรว่า ในแต่ละปีมูลค่าของหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แต่หากจะคำนวณความเสียหายทั้งห่วงโซ่การเลี้ยงหมูที่ได้รับผลกระทบจากหมูเถื่อน คาดว่าจะสูงถึงหลัก 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

ที่สำคัญ ยังพบว่าจากสถิติการจับกุมที่ผ่านมา มีมูลค่าการจับกุมที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 จับกุมได้ 14 ราย น้ำหนักหมู 236,177 กิโลกรัม ปี​ 2565 จับกุมได้ 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม และล่าสุดในปี 2566 จับกุมได้มากถึง 181 ราย น้ำหนักรวม 4,772,073 กิโลกรัม

หมูเถื่อน

เมื่อย้อนรอยไปถึงขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มาจาก บราซิล รัสเซีย สเปน เนเธอร์แลนด์ โดยกลุ่มนักการเมืองใหญ่ ,ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น พ่อค้านายทุน, ห้องเย็น ไปจนถึงฟาร์มหมู โดบผ่านท่าเรือแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่ศุลกากร บริษัทชิปปิ้ง ผ่านกระบวนการจ่ายส่วยไปจนถึงการกระจายสินค้าไปยังปลายน้ำคือ ผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการแปรรูปอาหาร ห้างค้าปลีก ร้านอาหาร-ร้านหมูกระทะ

ล่าสุด เมื่อนายกรัฐมนตรี สั่งการให้จัดการปัญหาหมูเถื่อนอย่างจริงจัง จนดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ และเกิดเหตุการณ์เด้งฟ้าผ่า สุริยา สิงหกมล พ้นเก้าอธิบดีดีเอสไอ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนเกิดข้อกังขาว่า อาจจะเกี่ยวพันกับคดีหมูเถื่อน แม้ว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรมจะออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกันก็ตาม

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า จากการขยายผล 10 บริษัทชิปปิ้งเอกชนที่จับกุมแล้วพบว่า มีเจ้าหน้าที่ข้าราชการทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนพัวพันจำนวนมาก

ปัญหาหมูเถื่อน ส่งผลกระทบวงกว้างต่อวงจรการเลี้ยงสุกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างมากจาก โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) จึงนับว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน

ข่าวดีเกษตรกรไทย รัฐบาลไฟเขียวโอน สปก.เป็นโฉนด

ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม  2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหนังสืออนุญาต ส.ป.ก.4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นับเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของเกษตรกรไทยในรอบปี 2566

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) และให้ระเบียบฯฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป

shutterstock 1135731734

สำหรับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าว เป็นการอนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเริ่มทยอยเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถยื่นความประสงค์ได้ที่ ส.ป.ก.ทุกจังหวัด, หน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ของ ส.ป.ก. และระบบ Online Website ส.ป.ก. เกษตรกรสามารถขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป โดยโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกจะสามารถแจกให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567

การเปลี่ยนจากที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะส่งผลให้จากเดิมที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ จะเปลี่ยนเป็น สามารถซื้อขายให้กับเอกชนได้ แต่ต้องใช้เพื่อทำเกษตรกรรมเช่นเดิม

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถยื่นความประสงค์ได้ที่ ส.ป.ก.ทุกจังหวัด, หน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ของ ส.ป.ก. และระบบ Online Website ส.ป.ก. เกษตรกรสามารถขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป โดยโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกจะสามารถแจกให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้ภายในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567

ดับฝันแรงงานไทย บอร์ดค่าจ้าง ยืนค่าแรงขั้นต่ำตามมติเดิม

แม้จะจบปี 2566 แต่สำหรับเรื่องการขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำยังคงไม่จบ เพราะหลังจากวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา  คณะกรรมการค่าจ้าง หรือเรียกว่า คณะกรรมการไตรภาคี 15 คน ได้ข้อสรุปตัวเลขการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2567 ออกมาว่าควรอยู่ในอัตรา 2-16 บาทแล้วแต่จังหวัด

ทั้งนี้ ได้เสนอให้จังหวัดภูเก็ตได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากที่สุด 16 บาท จาก 354 บาทเป็น 370 บาท ขณะที่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ถูกเสนอให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด คือได้เพิ่มขึ้น 2 บาท จากเดิม 328 บาทเป็น 330 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทย เคยชูธงหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยลั่นคำสัญญาต่อประชาชนไว้ว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 600 บาทต่อวันให้ได้ภายในปี 2570

shutterstock 1099598876

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในช่วงเดือน กันยายนว่า เป้าหมายแรกของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คือการปรับให้เป็น 400 บาทต่อวันโดยเร็วที่สุด จากนั้นเมือวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้กลับมานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อที่จะได้ดำเนินการประกาศการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่เริ่มปี 2567

อย่างไรก็ตาม อำนาจในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 15 คน มีทั้งตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ตามข้อกำหนดในกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปี พ.ศ. 2541 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551)

เมื่อคณะกรรมการไตรภาคี เสนอตัวเลขการปรับค่าแรงขั้นต่ำดังข้างต้น เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 กลับปรากฏว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขอถอนมติการขึ้นค่าแรงดังกล่าว ออกจากที่ประชุม ครม. โดยระบุว่า ข้อมูลที่นำมาคำนวณหาค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 อาจจะไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน

จากนั้น นายพิพัฒน์ ได้เสนอให้คณะกรรมการไตรภาคี พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567  คณะกรรมการไตรภาคีได้กลับมาพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่อีกครั้ง โดยที่ประชุมยังคงมีมติ เอกฉันท์ ยืนยันว่าจะขอยึดตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม

อย่างไรก็ตาม จะมีการเสนอรายชื่ออนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ในวันที่ 17 มกราคม  2567 ซึ่งเป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี

เอไอเอส ควบรวมกิจการ 3BB มูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท

นับเป็นอีกหนึ่งดีลใหญ่ในวงการโทรคมนาคม เมื่อ AIS สามารถปิดดีลควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านหรือบรอดแบนด์สำเร็จด้วยมูลค่ากว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เอไอเอส ผงาดขึ้นครองตลาดเน็ตบ้านสำเร็จ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เล่าว่า ใช้เวลา 1 ปี ในการขออนุญาตตามกฎหมาย จนกระทั่งได้รับอนุญาต ซึ่งการทำตลาดหลังจากควบรวมครั้งนี้ ได้ผนึกกำลังภายใต้แบรนด์ AIS-3BB FIBRE 3

หลังการควบรวมกิจการ จะส่งผลให้ AIS-3BB FIBRE 3 มีโครงข่ายครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือนภายในต้นปี 2567 ผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ครอบคลุมพื้นที่ 1.31 ล้าน ตร.กม. รองรับลูกค้าสูงสุด 9.5 ล้านราย และมีฐานลูกค้ารวม 4.68 ล้านราย โดยมาจาก  AIS Fibre 2.38 ล้านราย กับ 3BB 2.3 ล้านราย

สมชัย กล่าวว่า การควบรวมกิจการกับ 3BB ครั้งนี้ ยังส่งผลให้ AIS สามารถตอบโจทย์การใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงในประเทศไทยได้มากขึ้น และสอดรับกับกลยุทธ์ Sustainable Nation เพื่ออนาคตของประเทศไทยที่ยั่งยืน

ที่สำคัญ เป็นทางเดินลัดที่เอไอเอส ขึ้นเป็นผู้นำตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากต้องขยายโครงข่ายด้วยตัวเอง คาดว่าต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี ดังนั้น การควบรวมกิจการครั้งนี้ จึงเรียกได้ว่าตอบโจทย์ทั้งเรื่องของเวลา และการเติบโต

ส่งออกปี 2566 เริ่มฟื้นตัวโค้งสุดท้ายของปี

ภาคส่งออก เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญ ที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัว ซึ่งภาพรวมของการส่งออกไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าไม่สดใส เพราะหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ตลอดจนราคาน้ำมันโลกที่ผันผวนหนัก

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เมื่อภาคส่งออกของไทย กลับมาพลิกเป็นบวกครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2566 ด้วยมูลค่า 24,279. ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ขณะที่ภาพรวมส่งออก 8 เดือน ยังลบ 4.5%

ส่งออก 313662

จากนั้นในเดือนกันยายน 2566 การส่งออกของไทยพบวามีมูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.1% โดยได้แรงหนุนจากการการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน เช่น ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นสินค้าที่เติบตามเมกะเทรนด์ เช่นโซลาเซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

ต่อมาในเดือนตุลาคม การส่งออกของไทย สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 โดยมีมูลค่า 23,578 ล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน

ล่าสุด ตัวเลขส่งออกเดือนพฤศจิกายน พบว่า ยังคงเป็นบวก 4 เดือนติดต่อกัน โดยมีมูลค่า 23,479.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 4.9% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 7.7% อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 1.7% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.4% ส่วนยอดรวม 11 เดือน เหลือติดลบ 1.5% และคาดว่าเดือน ธันวาคม ยังส่งออกได้ดี

จากตัวเลขดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมการส่งออกไทยปี 2566 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยในช่วงที่เหลือของปี 2566 จากปัจจัยด้านฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ประกอบกับช่วงปลายปีเป็นเป็นฤดูกาลส่งออกในช่วงเทศกาล จึงมีแนวโน้มที่การส่งออกของไทยจะเติบโตได้ในแดนบวก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปี 2566 คงจะหดตัวลดลงจากที่เคยประเมินไว้ว่าจะติดลบ 2.5% อาจจะติดลบลดลงเหลือเพียง 1-1.5% โดยเฉพาะปัจจัยหนุนจากประเทศคู่ค้าเริ่มทยอยสั่งซื้อสินค้า เพื่อรองรับการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดยังขยายสูง

อสังหาฯ ยังชะลอตัวตามกำลังซื้อ เหลือขายเกือบ 2 แสนหน่วย

บทสรุปภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ปี 2566 วงการอสังหาฯ ต่างฟันธงออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คนชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ประกอบกับปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีน ที่ส่งกระทบทางอ้อมถึงอสังหาริมทรัพย์ไทย

นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2566 ภาพรวมอสังหาฯ โครงการใหม่เปิดตัวลดลง 30-40% ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ลดลง 10% และยังส่งผลกระทบไปถึงการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารที่ลดลงด้วย

อสังหา

ด้านบริษัทอสังหาฯ พบว่ามีผลประกอบการลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปีนี้โตต่ำ มาจากหลายปัจจัย เช่น หนี้ครัวเรือนสูง อัตราดอกเบี้ย ยอดถูกปฎิเสธสินเชื่อ หากเทียบตลาดอสังหาฯปีนี้กับ 3 ปีก่อน ปีนี้กลับตกต่ำกว่าช่วงโควิด-19

ด้านนายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มองว่า ในปี 2566 ตลาดคอนโดมิเนียมฟื้นหลอก เนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งจากสงคราม อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นหลายครั้ง ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนสูง แต่ยังเชื่อว่าปีหน้าน่าตลาดจะฟื้นตัวจริง

เช่นเดียวกับนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ประเมินว่า ตลาดอสังหาฯ ปี 2566 ไม่ค่อยดีและยังคงไม่ดีต่อเนื่องไปถึงปี 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ กำลังซื้อไม่ฟื้นตัว

ขณะที่ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คาดการณ์ว่า ตลอดปี 2566 หน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวน 87,732 หน่วย ลดลง 19.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวน 109,451 หน่วย

ส่วนมูลค่าคาดทั้งปีอยู่ที่ 514,512 ล้านบาท ลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าเปิดตัวใหม่ อยู่ที่ 550,146 ล้านบาท

ดังนั้น สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาพรวมทั่วประเทศ จึงมีอุปสงค์ที่อยู่อาศัยในตลาดปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นการปรับตัวลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า และยังมีข้อสังเกตว่าผู้ประกอบการเริ่มมองว่าตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปัจจุบันมีอุปทานคงค้างมาก และมีการแข่งขันกันสูง จึงมองการขยายตัวไปสู่พื้นที่ภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ และจังหวัดท่องเที่ยวที่มีเศรษฐกิจดี

อีคอมเมิร์ซยังทะยานต่อเนื่อง 

ปี 2566 ยังคงเป็นอีกปีที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากรายงาน eCommerce-Thailand ได้ชี้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ยังคงได้รับความนิยมจากคนไทยอ สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาด อีคอมเมิร์ซ ที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากปีละ 2,970 บาทต่อคนในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 8,840 บาทต่อคนในปี 2566

โดยปัจจุบัน คนไทยมากกว่าครึ่งมีการหรือเคยซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาด E-Commerce โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนไทยมีผู้ใช้งานสูงขึ้นจาก 30.7 ล้านคนในปี 2562 มาอยู่ที่ 41.5 ล้านคนในปี 2566 โดยมีแรงผลักดันหลักมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมประชากรไทยมากขึ้น

ขณะที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ของไทย มีมูลค่ากว่า 6.2 แสนล้านบาทในปี 2565 และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องปีละ 6% ขึ้นไปอยู่ที่ 6.34-6.94 แสนล้านบาท ในระหว่างปี 2566-2567

shutterstock 1711140016

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะยังเป็นช่วงขาขึ้น แต่ยังมีรายที่ไปต่อไม่ไหว จนต้องล่าถอยออกจากตลาดไป นั่นคือ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ JD Central ที่ประกาศ ปิดการให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

ภาพความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในรอบปี สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซ ได้กลายเป็นสมรภูมิแดงเดือดจัด ผู้ประกอบการในตลาดต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อชนะใจผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการใช้กลยุทธ์ราคา การพยายามพัฒนาบริการที่ดีกว่า ระบบการจ่ายเงินที่สะดวกสบาย และที่สำคัญคือ สินค้าที่ได้มาตรฐาน ร้านค้าที่ไม่หลอกลวงผู้บริโภค จึงจะมัดใจและสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ได้ในระยะยาว

ธุรกิจค้าปลีก 3.7 ล้านล้าน เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง

อีกภาคธุรกิจที่น่าจับตามองคือ ภาคธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าสูงถึง 3.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตราว 10% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของการบริโภคหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง

ทั้งนี้สะท้อนได้จากข้อมูลของ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index:RSI) ของผู้ประกอบการค้าปลีกช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพิ่มขึ้น 12 จุด เนื่องจากความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล มาตรการลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน นโยบายวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน รวมถึงการโหมโปรโมชั่นของร้านค้าในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลปลายปีได้ดีขึ้น

ค้าปลีก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกยังคงเติบโตไม่มาก แต่ในส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2 ค่ายใหญ่อย่าง เดอะมอลล์ และเซ็นทรัล

เริ่มจากเดอะมอลล์ ที่โหมแรงช่วงปลายปี ด้วยการเปิด ดิ เอ็มสเฟียร์ ที่ทุ่มงบลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ต่อจิ๊กซอว์โครงการ ดิ เอ็ม ดิสทริค มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ตามด้วยการเปิดโฉมใหม่ของ เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ สาขาบางกะปิและสาขาบางแค พร้อมกัน ด้วยเม็ดเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ก็คืกคักไม่แพ้กัน ด้วยการทุ่มเงินก้อนใหญ่รีโนเวต เซ็นทรัลพระราม2, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ และเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ พร้อมทั้งเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ ด้วยงบลงทุน 6,200 ล้านบาท

ประกันโควิด ‘สินมั่นคง’ ยังว้าวุ่น ศาลสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ 

กลายเป็นอีกหนึ่งคดีดังที่ยังคงยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 สำหรับบมจ.สินมั่นคงประกันภัย กรณีประกันโควิด ที่มีจำนวนเจ้าหนี้ถึงกว่า 2.95 แสนราย รวมมีภาระหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้จำนวนกว่า  2.92 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย และแต่งตั้งเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟู โดยสาเหตุที่สินมั่นคงประกันภัยต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ เนื่องมาจากการรับประกันภัยในไตรมาส 1/65 มีผลขาดทุนสูงถึง 29,421 ล้านบาท ลดลงกว่า 16,794% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ สินมั่นคงประกันภัย แจ้งความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเจ้าหนี้ประกันโควิด จะได้เงินคืน 15% ภายใน 1 ปี ที่เหลืออีก 85% บริษัทได้จัดสรรเป็นหุ้น พร้อมกำหนดระยะเวลาฟื้นฟูกิจการ 5 ปี

สินมั่นคง 1

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 แผนดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ รวมทั้งมีเจ้าหนี้ร้องต่อศาลล้มละลายกลาง คัดค้านการประชุมเจ้าหนี้และการลงมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ทางอีเมล ส่งผลให้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย หรือ SMK ตามมาตรา 90/48 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483

การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ส่งผลให้อำนาจหน้าที่ในการจัดกิจการ และทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ และมีผลให้สภาวะพักการชำระหนี้ สิ้นสุดลง ตาม ม. 90/74 และ 90/12 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ ยังมีผลให้ สินมั่นคงประกันภัย ต้องประกาศหยุดรับประกันภัยทุกประเภทอีกด้วย

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด คปภ. ได้นัดเรียกประชุมร่วมกับ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย เพื่อให้บริษัทนำเสนอแผนงานแก้ปัญหาของบริษัทที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอต่อ คปภ. ว่ามีแนวทางจะดำเนินการอย่างไรหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo