Business

ข่าวเด่นธุรกิจรอบปี 2566 ที่ต้องจดจำ!!

ปี 2566 เป็นปีทั่วโลกยังต้องเผชิญ กับวิกฤติเศรษฐกิจอยู่พอสมควร แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเบาบางลงก็ตาม แต่บริบทของโลกก็เปลี่ยนไป ธุรกิจจำนวนมากก็ไม่เหมือนเดิม ฉะนั้นด้านเศรษฐกิจ 365 วัน มีทั้งเรื่องดีและไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย  TheBangkokInsight ได้คัดเรื่องราวเด่นๆ 10 ข่าวเด่นธุรกิจรอบปี 2566 ที่เกิดขึ้น 

ข่าวเด่นธุรกิจ

ข่าวเด่นธุรกิจรอบปี 2566

1. ดีลประวัติศาสตร์ : บางจากฮุบ ‘เอสโซ่’ ปิดตำนาน 129 ปีในเมืองไทย!!

เป็นอีกหนึ่งดีลใหญ่ด้านพลังงาน เมื่อบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จาก Exxon Mobil  มูลค่าเกือบ 35,000 ล้านบาท ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ ทางด้านพลังงานของเมืองไทย ทรัพย์สินทั้งหมดของ เอสโซ่ กลายเป็นของบางจากอย่างสมบูรณ์ ปิดตำนาน “พี่เสือ” หรือเอสโซ่ หลังทำตลาดในไทยมานานจำต้องปิดตำนาน 129 ปี

ทันทีที่ปิดดีลสิ่งที่บางจากได้นั่นก็คือ โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 800 ไร่ ที่จังหวัดชลบุรี ที่มีเทคโนโลยีระดับโลก กำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน บวกกับโรงกลั่นของบางจาก ที่พระโขนง สามารถกลั่นน้ำมันรวมกันได้ราว ๆ 300,000 บาร์เรลต่อวัน คลังน้ำมัน 2 แห่ง (ศรีราชาและลำลูกา) สถานีบริการน้ำมัน 832 แห่ง หุ้นบริษัทท่อส่งปิโตรเลียม จำกัด (Thappline) 21% และหุ้นบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) 7.06% รวมถึงน้ำมัน 7.4 ล้านบาร์เรล

ข่าวเด่นธุรกิจ

 ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่บางจาก บอกว่าการลงทุนครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานที่มากขึ้นของบางจาก และประเทศไทย เป็นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เพิ่มความยั่งยืน เพิ่มการเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น  การทำธุรกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการพลิกโฉมสู่บริบทใหม่สำหรับบางจากและประเทศไทย

แน่นอนการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจของบางจากใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว นอกจากได้โรงกลั่น ที่จะทำให้มีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้จำนวนสถานีบริการน้ำมัน และกลุ่มธุรกิจ Non-oil ที่จะเพิ่มขึ้น  บางจากยังได้เครือข่ายคลังน้ำมัน ไม่เพียงส่งผลดีต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อภาพรวมของธุรกิจพลังงานในประเทศไทยด้วย

2. ทุจริตหุ้น STARK : นักลงทุน 4,704 รายเสียหายหนัก!!

ข่าวฮือฮาแบบสร้างความเสียหายให้กับนักลงุทนในรอบปี 2566 เห็นทีจะเป็นการทุจริตกันใน หุ้น STARK หรือ บริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในหุ้นที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนทั้งตลาด ไม่ว่าจะรายเล็ก รายใหญ่ หรือสถาบัน ต้องเผชิญกับการขาดทุนกันแบบถ้วนหน้า ณ ปัจจุบันนี้

หากมองย้อนกลับไป เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยวิธีการ Back-door Listing  จากการเทกโอเวอร์ บริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM เมื่อปลายปี 2561 STARK เป็นผู้ประกอบธุรกิจขายสายไฟฟ้า  เป็นตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์สายไฟฟ้าระดับโลก เข้าถือหุ้นบริษัทสายไฟฟ้าชั้นนำต่างๆ จนกลายเป็นบริษัทด้านสายไฟฟ้าติดอันดับโลก ผลประกอบการของบริษัทในช่วง 4 ปีแรกเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2562 กระทรงถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรดานักลงทุนหันมาให้ความสนใจ

แต่ความผิดปกติเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขอเลื่อนส่งงบการเงินประจำปี 2565 จนมีการขอเลื่อนทั้งหมด 3 รอบ  มีกรรมการลาออก บริษัทยังมีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายไม่โปร่งใสในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ การยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น การส่งงบการเงินประจำปี 2565 ไม่ทันกำหนด รวมถึงการประกาศลาออกของกรรมการบริหารทั้งหมด บริษัทเองได้ออกมายอมรับว่าอาจมีการทุจริตขึ้นภายในองค์กร จนทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นสถานะห้ามซื้อขายหุ้นไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อนักลงทุนในตลาด

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่า การทุจริตใน STARK สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนถึง 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778 ล้านบาท ทาง DSI รับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 (คดีพิเศษที่ 57/2566)

ข่าวเด่นธุรกิจ

ในส่วนของ DSI สั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 11 คน ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากคณะพนักงานฯ พบว่ามีการนำเงิน 10,000 ล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง  ได้ส่งข้อมูลให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

พฤติกรรมของ STARK เป็นหุ้นที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรวมถึงสถาบันการเงินที่ให้กู้ น่าจะเป็นความเสียหายหนักที่เกิดขึ้นตลอดช่วงปี 2566  เกิดจากการทุจริตนั่นเอง เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) DSI หรือปปง. ยังคงต้องดำเนินการต่อไปกับผู้เกี่ยวข้อง และนี่คือการทุจริตที่ปรากฎขึ้นตลอดช่วงปี 2566 เรียกว่าสร้างความหวาดผวาให้กับนักลงทุนอย่างหนัก!!!!

3.ไทยเนื้อหอม ค่ายรถโดดลงทุนกว่า 1 แสนล้าน ชิงตลาดรถอีวี

ปี 2566 นับได้ว่าเป็นปีทองของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า จากการแห่เข้ามาลงทุนของค่ายรถยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน โดยก่อนหน้านี้ มีแบรนด์จีนที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น MG, ORA จากค่ายเกรท วอลล์, BYD และ Neta

ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย 30@30 ว่าภายในปี 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ หรือ 7.25 แสนคัน จากทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านคัน พร้อมออกมาตรการส่งเสริมแบบครบวงจร อาทิ การให้เงินอุดหนุน ลดอากรนำเข้า และลดภาษีสรรพสามิต เป็นต้น

ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้ารวม 67,056 คัน เติบโตมากกว่า 690% หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 8,483 คัน ทำให้ตลาดรถ EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

เป้าหมายดังกล่าว เริ่มเข้าใกล้ความจริง เมื่อบีโอไอ เผยตัวเลขการส่งเสริม การลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.14 แสนล้านบาท

ข่าวเด่นธุรกิจ

ล่าสุดในปีนี้ มีค่ายรถยักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศความพร้อมเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกหลายราย ได้แก่

  • ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีเอซี ไอออน (GAC AION) ในเครือบริษัท กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป หรือ จีเอซี (Guangzhou Automobile Group หรือ GAC)

สำหรับ GAC AIONได้ตัดสินใจตั้งโรงงานในประเทศไทยในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ด้วยเงินลงทุนประมาณ 2,300 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฟสแรกจะเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม  2567 มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 5 หมื่นคันต่อปี

  • BYD บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของจีน

บีวายดี กำลังตั้งโรงงานผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง 36 มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 1.5 แสนคัน

  • ฉางอาน (CHANGAN)

แบรนด์จีนรายล่าสุด ที่ทำสัญญาซื้อที่ดินนิคมอุคสาหกรรมดับบลิวเอชเอ 250 ไร่ เพื่อตั้งฐานการผลิตรถ EV ด้วยกำลังผลิต 1 แสนคันต่อปี พร้อมประกาศลงทุนเฟสแรก 8,862 ล้านบาท หวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ Geely ยักษ์อีวีมีรายได้เป็นอันดับ 6 ในจีน ปัจจุบันมีแผนนำ EV Pickup มาจำหน่ายในไทย ต.ค.2566 รวมทั้งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายแดเนียล ลี CEO บริษัท Geely ระหว่างที่เยือนจีนเพื่อหารือเกี่ยวกับการเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ในไทยยังมีผู้ทำตลาดไม่มาก

หุ้น IPO 25126601

4. ปี 2566 วิกฤติ IPO ราคาดิ่งแรง!!

จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ตลาดหุ้นไทยมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าใหม่ ทั้งหมด 40 บริษัท มีมูลค่าระดมทุนรวม 38,259.50 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO ที่ 173,717.04 ล้านบาท ซึ่งต่างจากปี 2565 ลิบลับ โดยปี 2565 มีการเสนอขายมูลค่า 127,835.82 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO สูงถึง 506,545.49 ล้านบาทจากจำนวน 40 บริษัท

อย่างไรก็ตาม ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 สถานการณ์ตลาดหุ้น IPO ยังไปได้สวย แม้ว่าภาวะตลาดโดยรวมไม่ดีก็ตาม แต่บริษัทน้องใหม่ยังเชื่อมั่น และพร้อมจะเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางการคาดหวังสูงของที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย หรือแม้แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง

แต่เมื่ออยู่ ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นวันแรกดิ่งลงแรงผิดปกติ และเกิดขึ้นกับหลายตัวติดต่อกัน รวมถึงภาวะตลาดหุ้นโดยรวมทรุดตัวลงแรงต่ำกว่าระดับ 1,400 จุด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือนักลงทุนทั่วไป จนทำให้บริษัทบางแห่งตัดสินใจเลื่อนการขายหุ้น IPO ออกไปก่อน ส่วนหุ้นที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ส่วนใหญ่มีราคาต่ำกว่าราคาขาย IPO บางบริษัทหายไปมากกว่า 50%

หุ้น IPO ราคาดิ่ง!! (เรียงตามวันเข้าซื้อขาย)

  • PLT : ราคา IPO 1.55 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 0.89 บาท ปรับลดลง 42.58%
  • TPL : ราคา IPO 3.30 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 1.39 บาท ปรับลดลง 57.87%
  • I2 : ราคา IPO 2.70 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 2.32 บาท ปรับลดลง 14.07%
  • SRS : ราคา IPO 16 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 9.70 บาท ปรับลดลง 39.37%
  • MCA : ราคา IPO 3.30 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 2.54 บาท ปรับลดลง 23.02%
  • PQS : ราคา IPO 6.00 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 2.84 บาท ปรับลดลง 52.66%
  • CHASE : ราคา IPO 2.90 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 1.81 บาท ปรับลดลง 37.58%
  • PRTR : ราคา IPO 7.20 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 5.55 บาท ปรับลดลง 22.91%
  • MGC : ราคา IPO 7.95 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 5.80 บาท ปรับลดลง 27.04%
  • GABLE : ราคา IPO 6.39 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 4.52 บาท ปรับลดลง 29.26%
  • BLC : ราคา IPO 10.50 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 4.74 บาท ปรับลดลง 54.85%
  • PHG : ราคา IPO 21.00 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 12.40 บาท ปรับลดลง 40.95%
  • PSP : ราคา IPO 6.20 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 4.18 บาท ปรับลดลง 32.58%
  • SAV : ราคา IPO 19.00 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 15.30 บาท ปรับลดลง 19.47%
  • TAN : ราคา IPO 16.50 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 13.30 บาท ปรับลดลง 19.39%
  • WINDOW : ราคา IPO 2.10 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 1.37 บาท ปรับลดลง 34.76%
  • ORN : ราคา IPO 1.49 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 1.02 บาท ปรับลดลง 31.54%
  • NAM : ราคา IPO 7.70 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 6.50 บาท ปรับลดลง 15.58%
  • ETL : ราคา IPO 1.68 บาท ราคาล่าสุด (22 ธ.ค.) อยู่ที่ 1.30 บาท ปรับลดลง 22.62%
  • SAFE : ราคา IPO 21.00 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 17.60 บาท ปรับลดลง 16.20%
  • SCGD : ราคา IPO 11.50 บาท ราคาล่าสุด (25 ธ.ค.) อยู่ที่ 10.10 บาท ปรับลดลง 12.17%

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 จะมีหุ้น IPO น้องใหม่เตรียมลงสนามเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมทั้งสิ้น 38 บริษัทคงต้องจับตาดูว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยปี 2566 หรือไม่

 5. ‘ทุนจีนเทา’ บุกไทย

“ทุนจีนสีเทา” เข้ามาอาศัยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการกระทำผิดกฎหมาย สวมสัญชาติไทย ทำธุรกิจสีเทา-ศูนย์เหรียญ ถือเป็น “ปัญหาระดับชาติ” สร้างปัญหาใหญ่ให้ไทยยาวนานกว่า 10 ปี แทรกซึมทุกวงการ แม้ว่าจะมีการจับบกุมรายวันแต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหมด อีกทั้งยังมีตำรวจ และฝ่ายปกครอง บ้านเรากลับกลายเป็นผู้รู้เห็น “รับสินบน” เสียเอง

ผับ

ข่าวทุนจีนสีเทาโด่งดังอีกครั้ง หลังตำรวจบุกจับผับ “จินหลิง” ที่ใครๆ ตั้งฉายาว่าเป็น “ผับศูนย์เหรียญ” ที่มีกลุ่มทุนจีนบางกลุ่ม พยายามเข้ามาขยายอิทธิพลในเมืองไทย ด้วยธุรกิจสถานบันเทิง พ่วงกับปัญหา “ยาเสพติด” และยังเชื่อมโยงกับ “บ่อนการพนัน” โดยมี “เฮียชู” นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมืองและอดีตนักโทษคดีอาญาแฉข้อมูลต่อเนื่อง จนตำตรวจขยายผลจับชายชาวจีน “ตู้ห่าว” เป็นเจ้าของผับจินหลิง ยึดทรัพย์กว่า 1,000 ล้าน

เมื่อถามว่า “ทุนจีนเทา” มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจไทยหรือไม่ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันธุรกิจของชาวไทย ถูกกลุ่มจีนเข้ามาเป็นเจ้าของ หรือทำธุรกิจในรูปแบบนอมินีจำนวนมาก โดยเริ่มจาก ธุรกิจขนาดเล็ก ก่อนที่จะกระจายออกไปในหลายพื้นที่ พัฒนาเครือข่ายธุรกิจสีเทาขยายเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ดังนั้นผู้มีอำนาจในรัฐบาล ต้องปฏิรูปกฎระเบียบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตั้งกฎกติกาสำหรับคนต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจ หรือครอบครองบ้านที่ดินให้เท่าเทียมกับนานาชาติ มิเช่นนั้นคนจีนอาจจะครองเมืองเข้ามาแย่งงานแย่งอาชีพ-ทรัพยากร ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอย่างกรณีคดีนายตู้ห่าวก็เป็นได้ รวมทั้งเร่งกวาดล้างเครือข่ายธุรกิจสีเทาต่างชาติเข้ามาสร้างอิทธิพล เย้ยกฎหมายไทย เพื่อมิให้เข้ามาสร้างปัญหาในประเทศไทยเสียหายได้อีกต่อไป

shutterstock 1116550892

6. อสังหาฯ ไทย มาแรง จีนแห่ซื้อ ‘ลงทุน-พักอาศัย’

การเดินทางระหว่างจีน กับไทย ที่กลับคืนมาอีกครั้ง หลังจาที่รัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการควบคุม และป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ไม่นานนัก ยอดการค้นหาเที่ยวบินจากจีน มายังไทย ก็พุ่งขึ้นถึง 176% โดย ชาวจีนที่เดินทางมายังไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มที่หวังจะมาท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีจำนวนหนึ่งที่มองหาลู่ทางการลงทุนในที่พักอาศัย

ชาวจีนหลายคนมองว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในไทย ก็อาจให้ผลลัพธ์ที่น่าดึงดูดใจอย่างมาก ซึ่งแนวคิดนี้ ทำให้บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนหลายแห่ง มองเห็นถึงโอกาสของการทำธุรกิจ และเร่งรุกคืบเข้ามารองรับความต้องการในด้านนี้ อย่าง การจัดกรุ๊ปทัวร์ เพื่อเดินทางมาดูอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลของจูไว่ อ้ายฉี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า ไทย ถือเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของชาวจีน ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ

ขณะที่ คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ผู้ค้า และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ชี้ว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ชาวจีนเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทย คือ ราคา และผลตอบแทนจากการลงทุน ที่ยังสามารถแข่งขันได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาคอนโดมิเนียม ในกรุงเทพมหานคร

 7. มาตรการสนับสนุน จุดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

การจุดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เริ่มต้นเมื่อคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ารวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2025 รวมทั้งผลิตยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (zero emission) ให้ได้ 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด หรือคิดเป็น 725,000 แสนคันภายในปี 2030

พร้อมกันนี้รัฐบาลยังได้คลอดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยบริษัทผู้ผลิตและนำเข้ารถอีวี จะไดรับการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์จาก 8% เหลือ 2% ลดอากรเขาเข้าสำหรับรถ BEV ที่นำเข้าทั้งคัน (Completely Built Up หรือ CBU) สูงสุด 40%

และมาตรการเงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท รถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน เพื่อใช้เป็นส่วนลดให้กับผู้ซื้อรถ‍

shutterstock 2112208565

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่สำคัญ สำหรับเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับบริษืทผลิตและนำเข้ารถ ดังนี้

รถยนต์นั่งที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดความจุแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kWh แต่น้อยกว่า 30 kWh ได้รับเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน ขนาดความจุแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 kWh ขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน

เงื่อนไข หากนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 100% มาขาย 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศให้ได้จำนวน 1 เท่า ภายในปี 2567 หรือขยายระยะเวลาเป็นภายในปี 2568 แต่ต้องผลิต 1.5 เท่า จะเป็นรุ่นใดก็ได้ หากราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท

  • กรณีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท

เงื่อนไข ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดก็ได้ จนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 (นำเข้า 1 คัน ต้องผลิตคืน 1 คัน) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) หากยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี หรือวันที่ 31 ธันวาคม 2568

  • กรณีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท

เงื่อนไข ต้องผลิตชดเชยเฉพาะรุ่นที่นำเข้ามา จนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 (นำเข้า 1 คัน ต้องผลิต 1 คัน) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือในอัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) หากยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี หรือวันที่ 31 ธันวาคม 2568

แรงจูงใจมาจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะค่ายจากประเทศจีน ต่างกระโดดลงสนามเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด โดยค่อยๆ ทะยอยเปิดตัวรถแต่ละรุ่น ซึ่งก็มีระดับราคาตั้งแต่กลางจนถึงระดับบน ให้เลือกตามไลฟ์สไตล์และงบประมาณในกระเป๋า

บวกกับเงินส่วนลดจากรัฐบาล ทำให้ในปีนี้ เราได้ยลโฉนรถยนต์ไฟฟ้าในท้องถนนมากขึ้น!! 

8. ‘ฟรีวีซ่า’ หนุนท่องเที่ยวฟื้นต่อคาดปี 66 เข้าเป้า 25-28 ล้านคน 

จากภาพรวมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์ระบาดหนักของโควิด-19 ทำให้ปี 2566 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยประมาณ 25-28 ล้านคน ซึ่งจะสร้างรายได้เข้ากับประเทศมูลค่ารวมกว่า 2.167 ล้านล้านบาท

เป้าหมายดังกล่าว นับว่าไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะหลังจากผ่านพ้นไป 11 เดือน ล่าสุด สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ทั้งสิ้น 25,081,212 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วกว่า 1.067 ล้านล้านบาท โดยยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย 4,065,198 คน อันดับ 2 จีน 3,053,186 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1,447,187 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,484,926 คน และอันดับ 5 รัสเซีย 1,296,275 คน

shutterstock 2374344245

การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นและดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการฟรีวีซ่า (Visa Free) ของรัฐบาล ที่ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเข้าไทยมากขึ้น และการมีเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือฟรีวีซ่า ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน รวมถึงการอนุมัติให้ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน  สามารถเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ โดยอยู่ได้ไม่เกิน 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566-10 พฤษภาคม 2567 (ระยะเวลา 6 เดือน)

ขณะที่ Krungthai COMPASS มองว่า ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่า มาตรการฟรีวีซ่า ช่วงเดือนตุลาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567 จะช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นราว 4 แสนคน และสร้างรายได้ให้ไทยประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท

9. เมื่อหุ้นนางงามเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย

JKN หรือ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)  เป็นอีกหนึ่งบริษัทในตลาดหุ้นบ้านเรา ที่มีอาการร้อนแรงอยู่ไม่น้อยช่วงที่ผ่านมา ประเด็นร้อนนั่นก็คือฐานะการเงินของบริษัท เริ่มส่อแวว โดย JKN ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ รุ่น JKN239A ที่ครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มูลค่า 609 ล้านบาท มีการขอมติผ่อนผันจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อป้องกันปัญหาผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่นอื่น ๆ ที่จะครบกำหนดในปี 2567 และ 2568

จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566  JKN ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้ บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและชำระหนี้คืนลูกหนี้ทั้งหมด ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท

สิ่งที่ปรากฎเรื่อยมาหลัง JKN ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ นั่นก็คือผู้บริหารอย่าง แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ออกมาชี้แจงหรือแจ้งข่าวให้นักลงทุนรับทราบความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ว่าบริษัทได้ดำเนินการอะไร เรียกว่ามีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ยังยอมรับกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า โดย JKN อธิบายที่มาของปัญหา ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัท ได้ออกหุ้นกู้ซึ่งยังไม่ครบกําหนดไถ่ถอนจํานวน 7 ชุด รวม 3,360.20 ล้านบาท ต่อมาบริษัท จัดการสภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน ทําให้บริษัทฯ ผิดนัดชําระหนี้หุ้นกู้ รุ่น JKN239A การผ่อนผัน การชําระหนี้ รวมถึงการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการชําระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าว  ถือเป็นเหตุให้ผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ทั้ง 6 รุ่น เป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย

JKN

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย C กับหุ้น JKN มีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 หลังจากศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

ล่าสุด เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567

ประเด็นของ JKN ยังเชื่อว่าเป็นเรื่องร้อนแรงในตลาดหุ้นไทยอีกต่อไปในปี 2567 เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นที่ยังคงมีความวิตกกังวล กับการแก้ปัญหาของบริษัท สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปแบบยาวๆ

 10.กลุ่มคาราบาว ส่งเบียร์ ‘คาราบาว-ตะวันแดง’ ชิงตลาดเบียร์ 2.6 แสนล้าน

นับว่าเป็นอีกข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาในแวดวงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปิดท้ายปี เมื่อกลุ่มคาราบาว นำทัพโดย เสถียร เสถียรธรรมะ ประกาศท้าชิงตลาดเบียร์มูลค่า 2.6 แสนล้านบาท ที่มีค่ายสิงห์และช้าง เพียง 2 แบรนด์ปักธงยึดตลาดมาอย่างเหนียวแน่น

การกระโดดเข้าสู่ตลาดเบียร์ ที่มีผู้นำตลาด 2 รายครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 100% จึงนับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกลุ่มคาราบาว ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีความมั่นใจว่า มีอาวุธสำคัญที่สามารถต่อกรกับเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่ 2 รายได้

กลุ่มคาราบาว ประเดิมท้ารบตลาดเบียร์ ด้วยการส่งเบียร์ 2 แบรนด์ลงตลาด ได้แก่ คาราบาว ที่มีให้เลือก 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์) และ Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล) ขณะที่แบรนด์ตะวันแดง เปิดตัว 3 รสชาติ ประกอบด้วย Weizen Beer (เบียร์ไวเซ่น) Rose Beer (เบียร์โรเซ่) และ IPA Beer (เบียร์ไอพีเอ)

DSC00063 Edit copy 0

พร้อมกันนี้ ยังได้ลงทุนถึง 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่จังหวัดชัยนาท ด้วยเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานโลกจากเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตร ช่วงแรกนำร่องการผลิตที่ 200 ล้านลิตร

การตัดสินใจเข้าสู่ตลาดเบียร์ของกลุ่มคาราบาวครั้งนี้ เนื่องจากเป็นตลาดใหญ๋ ที่มีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่กี่แบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ในขณะที่มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการดื่มเบียร์คุณภาพระดับโลก แต่เบียร์เหล่านี้มักเป็นเบียร์นำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสเข้าถึงมีน้อย จึงถือเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น

สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสของกลุ่มคาราบาว ในการนำเสนอทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ และจะทำให้ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลัก 1 ใน 3 ของตลาดเบียร์ ด้วยเป้าหมายชิงส่วนแบ่งตลาด 20% ภายใน 3 ปีนับจากนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight