COVID-19

‘หมอธีระ’ เปิดผลวิจัย ‘ติดโควิด’ เสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังตามมาเพียบ!

“หมอธีระ” เปิดผลวิจัย “ติดโควิด” เสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังตามมาเพียบ ทั้งความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหัวใจ ระบบสืบพันธุ์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 30 สิงหาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 366,625 คน ตายเพิ่ม 1,113 คน รวมแล้วติดไป 606,201,325 คน เสียชีวิตรวม 6,489,275 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

หมอธีระ

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 87.52% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 73.22%

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หลังติดเชื้อโรคโควิด-19

เป็นที่ทราบกันจากงานวิจัยก่อนหน้านี้แล้วว่า หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ไปแล้ว จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมา ทั้งความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหัวใจ ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินอาหาร และอีกเรื่องที่สำคัญคือระบบต่อมไร้ท่อ

หมอธีระ

สำหรับระบบต่อมไร้ท่อนั้น เรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจตนเองหลังติดเชื้อมาแล้วคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

เด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (IDDM) เพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ติดเชื้อถึง 166% หรือ 2.66 เท่า

ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (NIDDM) สูงกว่าคนทั่วไปที่เคยมีประวัติดิดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจากสาเหตุอื่น ๆ ถึง 28% หรือ 1.28 เท่า

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราอุบัติการณ์เบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 กับอัตราในผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีอายุเฉลี่ยพอ ๆ กัน ซึ่งเคยสำรวจในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมันเมื่อปี 2010 จะพบว่าเกิดเบาหวานมากกว่าถึง 81% หรือ 1.81 เท่า

หมอธีระ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ ประเมินว่าอาจเกิดจาก 2 กลไกหลักคือ

  • หนึ่ง การที่ไวรัสโรคโควิด-19 นั้นเข้าไปโจมตีที่เบต้าเซลล์ในตับอ่อนโดยตรงตอนช่วงที่มีการติดเชื้อ (direct viral damage)
  • สอง หลังจากการติดเชื้อมาแล้ว กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกาย (inflammatory process) ที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์ตับอ่อนในระยะเวลาต่อมา
หมอธีระ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากกลไกใดกลไกหนึ่ง หรือทั้งสองร่วมกัน และยังไม่สามารถทราบได้ว่าความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานภายหลังจากที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะมีการเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง ในการระบาดจากไวรัสโรคโควิด-19 ที่ต่างสายพันธุ์กันหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และความเสี่ยงนั้นจะคงอยู่ยาวนานไปเท่าใดเมื่อเทียบกับคนทั่วไป จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม และติดตามกันต่อไป

แต่ที่ทราบตอนนี้คือ คนที่ติดเชื้อมาก่อน จะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้นกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และไม่ว่าจะติดเชื้อตอนแรกจะมีอาการน้อยหรือรุนแรงก็ตาม

หากแปรความรู้ที่มี ไปสู่คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชน คงพอจะแนะนำได้ว่า หลังจากที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว ควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง สังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะ Long COVID ทั้งร่างกาย ความคิด อารมณ์ และควรไปตรวจสุขภาพเป็นระยะตามสมควรด้วย

ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

…การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก…

หมอธีระ
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

อ้างอิง

  1. Rangu R et al. Does diabetes risk after SARS-CoV-2 infection depend on the viral variant? Diabetes Research and Clinical Practice. 28 August 2022.
  2. Rathmann W et al. Incidence of newly diagnosed diabetes after Covid-19. Incidence of newly diagnosed diabetes after Covid-19. Diabetologia. 16 March 2022.
  3. Boehme MWJ et al. Prevalence, incidence and concomitant co-morbidities of type 2 diabetes mellitus in South Western Germany – a retrospective cohort and case control study in claims data of a large statutory health insurance. BMC Public Health. 2015:15;855.
  4. Barrett CE, Koyama AK, Alvarez P, et al. Risk for Newly Diagnosed Diabetes >30 Days After SARS-CoV-2 Infection Among Persons Aged <18 years — United States, March 1, 2020–June 28, 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. ePub: 7 January 2022.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK