COVID-19

ระวัง!! ‘หมอธีระ’ เตือนเป็น ‘เบาหวาน’ เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิดมากขึ้น

ระวัง!! “หมอธีระ” เตือนเป็น “เบาหวาน” เสี่ยงเสียชีวิตจากโควิดมากขึ้น ย้ำ!! หากติดเชื้อ ควรแยกกักตัวในระยะเวลาที่ถูกต้องและนานเพียงพอ และก่อนออกจากการกักตัว ต้องแน่ใจว่าไม่มีอาการ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า 29 สิงหาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 450,320 คน ตายเพิ่ม 841 คน รวมแล้วติดไป 605,785,320 คน เสียชีวิตรวม 6,487,913 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี

หมอธีระ

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 91.78% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 81.8%

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคมจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…อัพเดตความรู้โรคโควิด-19

1. “คนที่เป็นโรคเบาหวานต้องป้องกันให้ดี เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากขึ้น” Shestakova MV และคณะจาก Endocrinology Research Center ประเทศรัสเซีย ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ Frontiers in Endocrinology เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานกว่า 235,248 คนในรัสเซีย ตั้งแต่มีนาคม 2563 ถึงพฤศจิกายน 2564 โดยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวน 11,058 คน และเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 224,190 คน

สาระสำคัญคือ อัตราการป่วยแล้วเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 สูงราว 8.1% และเบาหวานชนิดที่ 2 สูงถึง 15.3%

หมอธีระ

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงซึ่งทำให้เสียชีวิตนั้นได้แก่ การไม่ได้ฉีดวัคซีน, อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป, และการเป็นเบาหวานมานานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ และการไปรับวัคซีน

2. “COVID Rebound นั้นเกิดได้ทั้งในคนที่ได้ยาต้านไวรัส และไม่ได้ยาต้านไวรัส” ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา มีข่าวในสื่อที่นำเสนอว่า การกินยาต้านไวรัสจะเสี่ยงต่อการทำให้เป็นกลับซ้ำหรือ Rebound มากขึ้น ทั้งนี้ข่าวดังกล่าวเป็นการให้ความรู้ที่ไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อน และอาจทำให้เข้าใจผิดได้

ความรู้ที่ถูกต้องคือ “Rebound” หรือการเป็นกลับซ้ำนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อแล้วกินยาต้านไวรัส หรือไม่ได้กินยาต้านไวรัส

การเป็นกลับซ้ำ เกิดได้ 2 รูปแบบ จะเกิดพร้อมกันหรือเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ได้แก่

  1. ปริมาณไวรัสในร่างกายปะทุสูงขึ้นมา หลังจากที่ติดเชื้อแล้วได้ยาต้านไวรัสจนปริมาณไวรัสลดลง หรือเวลาผ่านไปแล้วดีขึ้นจนไวรัสลดลง จนตรวจได้ผลเป็นลบ แต่กลับมีปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จนตรวจพบผลบวกกลับมาใหม่ เรียกว่า “Viral rebound”
  2. อาการกลับเป็นซ้ำ กล่าวคือ ติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย ต่อมาได้รับยาจนดีขึ้นหรือหายป่วย หรือเวลาผ่านไปแล้วอาการดีขึ้นหรืออาการหมดไป แต่ผ่านไปไม่กี่วันก็กลับมีอาการกำเริบขึ้นมาใหม่หรือแย่ลง เรียกว่า “Symptom rebound”

หมอธีระ

…โอกาสเกิด Rebound นั้นมีประมาณ 5-10% ในคนที่ติดเชื้อแล้วได้รับยาต้านไวรัส…

…ในขณะที่คนที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสนั้น งานวิจัยของทีม Harvard Medical School พบว่ามีโอกาสเกิด Viral rebound 12%, (ราว 1 ใน 8 ) และ Symptom rebound ได้มากถึง 27% (ราว 1 ใน 4)…

ดังนั้น หากติดเชื้อ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ยาต้านไวรัส การแยกกักตัวในระยะเวลาที่ถูกต้องและนานเพียงพอ (14 วันสำหรับ Omicron หรืออย่างน้อย 7-10 วัน โดยก่อนออกจากการกักตัว ต้องแน่ใจว่าไม่มีอาการ และตรวจ ATK ได้ผลลบ) จึงมีความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อ

เหนืออื่นใด “การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ” เวลาดำเนินชีวิตประจำวันนอกบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะป้องกันตัวเราและครอบครัวในสถานการณ์ระบาดที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะในชีวิตจริง มีโอกาสสูงที่เราจะพบปะกับคนที่ติดเชื้อทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้

อ้างอิง

  1. Shestakova MV et al. Risk factors for COVID-19 case fatality rate in people with type 1 and type 2 diabetes mellitus: A nationwide retrospective cohort study of 235,248 patients in the Russian Federation. Front Endocrinol (Lausanne). 9 August 2022.
  2. Deo R et al. Viral and Symptom Rebound in Untreated COVID-19 Infection. medRxiv. 2 August 2022.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK