“หมอนิธิพัฒน์” เผยอาการลองโควิด หลังหายป่วยจากโควิด-19 ตกค้างระบบทางเดินหายใจ ระวังระบบประสาทและจิตใจ
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถึงอาการลองโควิด ที่มักพบหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 โดยระบุว่า
ชักลังเลว่าเอาอยู่จริงไหม เพราะตัวเลขผู้ป่วยหนักและใส่เครื่องช่วยหายใจยังคงไปต่อ ส่วนผู้เสียชีวิตยังทรง แต่อาจเพราะเปลี่ยนวิธีการสรุปสาเหตุตาย ถ้าไม่ได้เป็นผลจากโควิดโดยตรง หรือเป็นการติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวขณะป่วยหนัก จากโรคเรื้อรังที่มีอยู่เดิม
สำหรับในแต่ละวัน เท่าที่ทราบมีประมาณ 15-20% ของผลการตรวจ RT-PCR เป็นผลจากการตรวจยืนยันผลจาก ATK ก่อนหน้า ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ถ้าต้องเข้ารพ.หลัก และเหตุผลต้องการยืนยันเพื่อหยุดงานหรือการประกัน
สำหรับผลตรวจนั้นกว่า 95% ผลก็เป็นบวกจริง แสดงว่าช่วงนี้ผลบวก ATK เชื่อถือได้ น่าคิดจะใช้ทดแทน RT-PCR ในบางกรณีกันบ้างจะได้ประหยัดเงินประเทศ
สำหรับสายพันธุ์ย่อยแปลกไปจาก BA.2 ที่ครองตลาด ยังพบน้อยในบ้านเรา ส่วนตัวแชมป์ใหม่นั้นก็ไม่พบว่ารุนแรงกว่าเจ้าของพื้นที่เดิม
สามวันก่อนมีสื่อขอสัมภาษณ์เรื่องอาการลองโควิด ทางระบบประสาทและสมอง ต้องขอบายเขาไปเพราะไม่ชำนาญ และไม่มีข้อมูลด้านนี้มาก
เพียงแต่ประสบการณ์ส่วนตัวที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากปอดอักเสบโควิดแล้ว นอกจากอาการตกค้างในระบบการหายใจแล้ว อาการตกค้างในระบบประสาทก็พบได้บ่อยไม่แพ้กัน แถมยังรบกวนชีวิตประจำวันได้มาก โดยเฉพาะรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน
ดูเหมือนว่าเจ้าโควิดจะทำร้ายร่างกายเรา โดยไม่แยกแยะอวัยวะ มีสองช่องทางที่เชื้อไวรัสก่อโรคทำให้เกิดความผิดปกติต่อสมองและจิตใจของเรา
ทางตรงเป็นผลจากการอักเสบโดยตรงของเนื้อสมอง และเนื้อเยื่อประสาท (encephalitis/encephalopathy) ทำให้แสดงอาการออกมาในรูปของการสับสนวุ่นวาย (altered mental status and delirium) ในระยะแรกของการเจ็บป่วย
เมื่อดีขึ้นหรือหายแล้ว บางคนอาจมีอาการหลงเหลือ เช่น เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
นอกจากผลการอักเสบจากไวรัสแล้ว การกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อไวรัสผิดปกติ (cytokine network dysregulation and peripheral immune cell transmigration) รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หลังหายจากการติดเชื้อ (post-infectious autoimmunity)
ส่วนทางอ้อม เป็นผลกระทบมาจากความเครียดในระหว่างการเจ็บป่วย ไปช่วยกระตุ้นให้ปัญหาทางสมองและจิตใจที่อาจมีอยู่เดิมกำเริบขึ้น หรือเป็นของใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะต้องถูกแยกตัวทั้งในทางกายภาพและทางสังคม (physical and social isolation)
ยิ่งถ้าป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยแล้ว การต้องถูกแยกตัวห้ามญาติเยี่ยม แถมจำกัดบุคลารกรที่จะเข้าไปดูแล ทำให้เกิดความแปลกแยกและยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่เป็นผลทางตรงจากโรคเข้าไปใหญ่
นี่ยังไม่นับปัญหาการตกงานหรือขาดงาน การขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคและอุปโภค รวมไปถึงฐานะทางเศรษฐกิจที่อาจถูกสั่นคลอน ล้วนแล้วแต่ช่วยซ้ำเติมให้ผลกระทบทางตรงจากตัวโรคแย่หนักขึ้นอีก
https://link.springer.com/…/10.1007/s11126-022-09980-9.pdf
ถ้าโชคดีบ้านเราเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโควิดได้เร็ว คงมีผลหลงเหลือทางร่างกายและจิตใจของคนป่วยและคนที่ไม่ได้ป่วยจากโควิดจำนวนมากมาย ในระหว่างที่ยังไม่ถึงจุดนั้น สายด่วน 1323 คงช่วยผ่อนคลายความทุกข์ของท่านได้บ้าง ในยามที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- โควิดขาลง ‘หมอนิธิพัฒน์’ เตือนเตรียมรับมือ PTSD ในครอบครัว-ญาติผู้ติดเชื้อ
- ตรวจ RT-PCR เฉพาะกรณีจำเป็น ‘หมอนิธิพัฒน์’ เตือนเตรียมรับมือ’ลอง โควิด’
- ‘หมอนิธิพัฒน์’ ติงเกณฑ์ ‘ยูเซป พลัส’ หวั่นทำโรคลุกลาม แนะปรับค่าวัดไข้-ออกซิเจนในเลือด