COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ ติงเกณฑ์ ‘ยูเซป พลัส’ หวั่นทำโรคลุกลาม แนะปรับค่าวัดไข้-ออกซิเจนในเลือด

“หมอนิธิพัฒน์” ห่วงเกณฑ์พิจารณาผู้ป่วยโควิด เข้า ยูเซป พลัส หวั่นทำโรคลุกลาม แนะลดค่าวัดไข้ ปรับความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดใหม่ 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถึงการใช้เกณฑ์คัดแยกผู้ป่วยโควิด เพื่อส่งเข้ารับการรักษาฉุกเฉินตามเกณฑ์ UCEP โดยระบุว่า

ยูเซป พลัส

ยังไปกันต่อช้า ๆ สำหรับยอดผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต มาลุ้นกันว่าจะไปชะลอตามการคาดเดาในกลางสัปดาห์หน้าไหม

ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจะชะลอช้าไปกว่านั้นอีกราว 7-10 วัน และน่าจะทะลุแนวต้านที่ 100 ได้ เพราะอัตราการเสียชีวิตในรายใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 40-60% ดังนั้นปัจจุบันเราอยู่ที่ 420 จึงมีความเป็นไปได้ หากการเสียชีวิตกระจายตัวในช่วงเวลาต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน และไม่มีการลงสาเหตุการตายผิดพลาดไปจากเกณฑ์

ฟังข่าวประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเรา จะให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือนหน้า พร้อมกับเปิดให้คนเดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัวถ้าฉีดวัคซีนครบ

หากเป็นเช่นนั้นจริงนับว่ากล้าหาญมาก เพราะสถิติปัจจุบันเขายังไม่ถึงจุดพีคดี เหลือเวลาอีกยี่สิบกว่าวัน ไม่รู้จะเคลียร์ภาระโควิดตกค้าง (backlog) ในประเทศได้ดีแค่ไหน เชื่อว่าภาคการแพทย์ที่นั่นคงไม่สบอารมณ์นักกับโรดแมปของฝ่ายการเมืองถ้าจริงดังว่า

สู้บ้านเราไม่ได้ แม้จะระหองระแหงกันบ้างประสาผัวเมีย แต่ท้ายที่สุดภาคการเมืองและภาคการแพทย์ ก็ทนอยู่กันกับโควิดมาได้สองปีกว่า ไม่รู้มีลูกหัวปีท้ายปีตามมาด้วยหรือเปล่า

นิธิพัฒน์

แนะปรับเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วยโควิด เข้า ยูเซป พลัส

ที่ไม่สบายใจหน่อยคือ การจะเริ่มใช้ UCEP+ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องทำ ในช่วงเปลี่ยนผ่านโควิด แต่เกณฑ์ที่จะคัดแยกผู้ป่วยโควิดรายนั้น ว่าอาการรุนแรง เพื่อส่งเข้ารับการรักษาฉุกเฉินตามเกณฑ์ UCEP เดิมนั้น มีจุดที่ต้องระวังและติดตามผลการใช้งาน คือ

ข้อแรก กำหนดไว้ว่าต้องวัดไข้ได้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง  ตามหลักการใช้จุดตัดเพื่อคัดแยกโรค ถ้าตั้งเกณฑ์สูง ความไวในการคัดแยกจะลดลง แต่ความจำเพาะมากขึ้น

การมีไข้สูงในโรคโควิด-19 มีสองความหมาย คือ ตัวโรคโควิดเองรุนแรง หรือ มีการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนโควิด หรือ มีไข้จากโรคพื้นฐานผู้ป่วย แต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย

ดังนั้นควรลดเกณฑ์ต่ำลงมาเป็น 38.3 หรือ 38.0 ตามนิยาม SIRS ที่ปัจจุบัน (2021) นำกลับมาใช้คัดแยกผู้ป่วย sepsis and septic shock อีกครั้งแทน quick SOFA

หรือจะเอาแบบที่ผมใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านด้วยตัวเองคือ 38.0 ก็จะไวขึ้นอีกหน่อย และไม่ควรรอให้ไข้สูงนานกว่า 24 ชั่วโมงซึ่งโรคจะลุกลามเสียก่อน ควรเป็นนานกว่า 6 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว

นิธิพัฒน์1

ข้อสอง ต้องวัดความอิ่มตัวออกซิเจนจากชีพจรปลายนิ้วแรกรับน้อยกว่า 94% เช่นกัน ถ้าใช้จุดนี้ความจำเพาะในการคัดแยกปอดอักเสบโควิด หรือการติดเชื้ออื่นรุนแรงจะดี แต่ความไวจะลดลง โดยเฉพาะในคนที่ไม่เข้าข่ายมีปัจจัยเสี่ยงโรครุนแรงหรือกลุ่ม 608 แต่อาจมีโรคหรือภาวะอื่นซ่อนเร้นที่ยังไม่เคยวินิจฉัยโดยแพทย์มาก่อน

จึงเสนอว่าควรใช้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 94 จะเหมาะสมกว่า อีกทั้งจะช่วยคัดกรองคนที่ปอดอักเสบมากแล้ว แต่ไม่มีไข้ และออกซิเจนในเลือดต่ำแล้ว แต่ไม่รู้สึกหอบเหนื่อย (happy hypoxemia) ซึ่งไม่ค่อยพบแล้วในยุคเดลตาและโอไมครอน

ขอแสดงความยินดีย้อนหลังกับทีมคู่ปรับตลอดกาล ที่แพ้แต่ก็เข้ารอบแปดทีมถ้วยใหญ่ยุโรป ส่วนทีมคู่ปรับร่วมเมืองก็เพิ่งยันเสมอหลังถล่มแหลกมาในนัดแรก จึงได้ทีมจากเกาะอังกฤษเข้ารอบเป็นทีมที่สอง

สัปดาห์หน้าเหลืออีกสองทีมช่วยพาเขาไปด้วยนะ โดยเฉพาะทีมที่ปีนี้พิกลพิการเต็มแก่แล้ว แต่เพราะรักเพราะหลงเขาหัวปักหัวปำไปแล้ว เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

#อยู่ร่วมกับโควิดแบบรู้เขารู้เรา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo