COVID-19

โควิดขาลง ‘หมอนิธิพัฒน์’ เตือนเตรียมรับมือ PTSD ในครอบครัว-ญาติผู้ติดเชื้อ

“หมอนิธิพัฒน์” ประเมินโควิดขาลง คาดผู้ป่วยหนักลดลงหลัง 26 มี.ค. ผู้เสียชีวิตลดลงต้นเดือนหน้า เตือนระวังครอบครัวผู้ติดเชื้อเกิดอาการ PTSD ตามมา

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถึงสถานการณ์โควิดในไทยว่า น่าจะเข้าสู่ช่วงโควิดขาลง หลังจากนี้ ต้องเตรียมรับมืออาการ PTSD ในครอบครัวผู้ติดเชื้อ โดยระบุว่า

โควิดขาลง

ถ้าดูเฉพาะตัวเลขผู้ป่วยยืนยันจากการตรวจ RT-PCR จุดสูงสุดของที่ราบสูงบนภูกระดึง สิ้นสุดและเริ่มลดลงจริงตามคำทำนายตรงวันที่ 19 มีนาคม พอดี (สูงสุดวันที่ 18 ที่ยอด 27,071 คน)

ปัจจุบันตัวเลขนี้กำลังลดลงช้า ๆ ไปพร้อมกับจำนวนที่ตรวจจับได้จาก ATK แต่จุดขึ้นหลังทำนายคลาดเคลื่อนไปเยอะ เพราะเริ่มจากแถววันที่ 23 กุมภาพันธ์แทนที่จะเป็น 6 มีนาคมดังว่า

ถ้าตรงวันที่ 19 นี้เป็นขาลงของยอดรวมจริง ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักน่าจะเริ่มลดชัดเจนได้หลังวันที่ 26 ตัวเลขผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ น่าจะลดชัดเจนแถวปลายเดือน และตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะลดชัดเจนต้นเดือนหน้า

หากเกิดขึ้นจริงได้ตามนี้ ก็จะเป็นการเคลียร์ภาระโควิดตกค้าง (backlog) เพื่อเตรียมรับผลพวงจากมาตรการผ่อนคลายประเทศเฟสต่อไป โดยเฉพาะการลดเงื่อนไขคนเดินทางเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายของผู้คนในเทศกาลสงกรานต์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

LINE ALBUM รวมหมอโควิด ๒๒๐๓๒๒
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

หวังว่าโรดแมปแห่งชาตินี้จะไม่สะดุดถ้าทุกฝ่ายร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ ฝากกระซิบถึงผู้บังคับบัญชาของผู้มีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ให้สอดส่องดูแลเข้มงวด และจริงจังกับตัวเองและลูกน้องกันด้วย

แม้ระลอกนี้จะมีผู้ป่วยโควิดวิกฤติน้อยกว่าระลอกก่อนหลายเท่าตัว แต่สำหรับใครที่ไม่ผ่านคงต้องเผชิญกับความเครียดและวิตกกังวลเป็นพิเศษ เมื่อมีคนรักหรือสมาชิกครอบครัวป่วยหนักจนถึงขั้นวิกฤติจากโควิด

จับตาญาติผู้ติดเชื้อ เกิด PSTD หลังโควิดขาลง

ยิ่งรายที่ต้องเข้าไอซียู และใช้เครื่องช่วยหายใจด้วยแล้ว หากโชคดีเมื่อผ่านพ้นมรสุมชีวิตนั้นมาได้ ทั้งเจ้าตัวผู้ป่วยเองและคนที่คอยช่วยลุ้น น่าจะมีปัญหาความเครียดภายหลังได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจรุนแรง (posttraumatic stress disorder: PTSD) ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทีมนักวิจัยจากฝรั่งเศส ได้ติดตามสมาชิกครอบครัวจำนวนหกร้อยกว่าคน ของคนที่เกิดโควิดวิกฤติในช่วงการระบาดตั้งแต่ระลอกแรก

หมอนิธิพัฒน์1

เมื่อติดตามไปถึงสามเดือนหลังผู้ป่วยออกจากไอซียู พบว่ากว่าหนึ่งในสามของญาติเกิด PSTD โดยการเกิดขึ้นของความผิดปกตินี้ พบได้มากกว่าถึงสองเท่า (อัตราเสี่ยง 2.05) เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้ออื่นที่มีความรุนแรงขนาดเข้าไอซียูใกล้เคียงกัน

อาการเด่น คือ ซึมเศร้าและวิตกกังวล ที่น่าสนใจและคงมีการติดตามกันต่อไปว่า ความผิดปกติ PTSD ที่เกิดขึ้นนี้ มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนที่เป็นแล้วมากน้อยเท่าไร และอาการคงอยู่ไปได้นานแค่ไหน

สำหรับในบ้านเรา น่าจะมีกลุ่มแพทย์และพยาบาล ที่สนใจเรื่องนี้ทำการศึกษาอยู่เช่นกัน เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นเองกับใครคงจะไม่รู้ซึ้ง

ทางที่ดีที่สุด ป้องกันตนเองให้ดี ฉีดวัคซีนตัวเองและสมาชิกครอบครัวให้ครบ (รวมผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภาวะติดเตียง) https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2789436

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo