COVID-19

วางแผนเลย! ศบค. เล็งเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง ‘ภูเขา-ทะเล’ รับช่วง ‘ไฮซีซั่น’ สิ้นปีนี้

ศบค.จ่อเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว ภูเขา-ทะเล นำร่องต้อนรับฤดูกาลไฮซีซั่น ในไตรมาส 4 ย้ำ 3 เงื่อนไขมาตรการรองรับ

วันนี้ (15 ก.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือ ศบค. กล่าวระหว่างการแถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. สั่งการว่า ให้มองไปยัง ฤดูกาลท่องเที่ยวในภาคปกติ คือ ไตรมาส 4 ของทุกปี หรือ ไฮซีซั่น เพื่อดูว่า จะต้องเตรียมตัวอะไรกันอย่างไร ในขณะที่จะต้องอยู่กับ โควิด-19 ไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ ก็จำเป็นที่ต้องปรับตัว

นายกรัฐมนตรี จึงได้ให้นโยบายมา เป็นข้อสั่งการว่า ขอให้เตรียมความพร้อม ให้กับนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อที่จะได้ท่องเที่ยวกันในช่วงไฮซีซั่นนี้ โดยให้ไปดูในพื้นที่ เพื่อที่จะประกาศพื้นที่นำร่อง คือ

เปิดพื้นที่ท่องเที่ยว

  • พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวปลอดภัยจาก โควิด-19 หรือ โควิดฟรี ทัวริสต์ แอเรีย แซนด์บ็อกซ์

ที่มี ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว จึงได้มอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ไปร่วมกันพิจารณา เช่น พื้นที่เกาะ พื้นที่ที่มีสนามบิน

  • ต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุม โควิด-19 ในพื้นที่นั้น ๆ

ต้องได้รับความเห็นชอบในการดำเนินการ โดยดูความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า พร้อมหรือไม่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีไม่มาก สามารถควบคุมได้ จำนวนการฉีดวัคซีนเหมาะสม

  • มีขีดความสามารถในการรักษา

มีเตียง มีทรัพยากรทางการแพทย์ และพยาบาล เพียงพอหรือไม่ หากเกิดการระบาดขึ้นมาจะสามารถควบคุมโรค สามารถให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น ๆ ได้อย่างเพียงพอ

เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร้อง ระยะแรก 1 ตุลาคม

ทั้งนี้ ให้พิจารณา ระยะแรกเป็น พื้นที่นำร่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป หากมีความพร้อมให้เปิด ทดลองดำเนินการ ส่วนระยะที่สอง ก็อาจจะเป็นพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงระยะเวลา 15 ตุลาคม หรือ 1 พฤศจิกายน ไปแล้ว ที่อาจจะเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมอื่น ๆ เช่น ทะเลในภาคตะวันออก ภูเขาในภาคเหนือ หากพร้อมก็ให้ทดลองดำเนินการ.-001

นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์นั้น มียอดการจองที่พักช่วง 76 วันที่ผ่านมา หรือระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-14 กันยายน ประมาณ 524,221 คืน จำนวนคน 32,005 คน ทั้งจากการตรวจหาเชื้อในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 พบผู้ติดเชื้อเพียง 91 คน ส่วนใหญ่เป็นไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา

ส่วนการติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ มีรายงานว่า 229 ราย มีทั้งคนไทย และแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ภูเก็ต แต่ชาวต่างประเทศนั้นเป็นศูนย์ โดยทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ที่ได้เข้าร่วมประชุมแบบทางไกล รายงานว่า รับมือไหว มีสมรรถนะในการรักษาที่รองรับได้ โดย 90% ของจำนวนคนป่วย และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แข็งแรงดี มีอาการไม่มาก อยู่ในกลุ่มสีเขียว ส่วนกลุ่มสีเหลืองสีส้มนั้นมีประมาณ 4% สีแดงประมาณ 6%

ส่วนโครงการ 7+7 ใน 3 จังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี ที่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า นั้น รายงานว่า มีการเข้าพักประมาณ 3,900 กว่าคืน พังงา ที่ เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เขาหลัก ประมาณ 1,900 กว่าคืน กระบี่ ที่ เกาะพีพี ไร่เลย์ เกาะไหง อีก 1,263 คืน รวม 3 จังหวัด 7, 135 คืน

“นี่คือช่องทาง ของการทำให้เศรษฐกิจของคนที่พึ่งพาทางด้านการท่องเที่ยวพอจะหายใจหายคอออกบ้าง”  นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo