COVID-19

ห้ามขายออนไลน์! ศบค. ย้ำ ‘ชุดตรวจโควิด’ ต้องซื้อในร้านขายยา ที่มีเภสัชกร

ศบค. ย้ำ Antigen Test Kit เป็นอุปกรณ์การแพทย์ ห้ามขายออนไลน์-ตลาดนัด ศปก.ศบค. ลั่น ผู้ป่วย โควิด-19 ทุกคน จะได้รับเข้าสู่ระบบการรักษา

วันนี้ (2 ส.ค.)  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ในประเด็นการตรวจหาเชื้อโควิคด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ว่า ชุดตรวจดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่อนุญาตให้ขายทางออนไลน์ ตามตลาดนัด ตามร้านสะดวกซื้อ

แต่จะซื้อได้ในร้านขายยา ที่มีเภสัชกรประจำ เพราะต้องมีการตรวจสอบเรื่องคุณภาพ และที่มาที่ไป จะต้องมีคำอธิบายเพื่อให้เข้าใจว่า ผลตรวจแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้พบว่า มีการลักลอบขายทางออนไลน์อยู่จำนวนหนึ่ง ด้วยราคาค่อนข้างสูง

ชุดตรวจโควิด

ดังนั้น หากพบว่าราคาสูงเกินไปขอความกรุณาอย่าซื้อ ขณะนี้มีอยู่ 19 ยี่ห้อ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วราคาจะถูกลง ที่สำคัญองค์การเภสัชกรรมได้แทรกแซงโดยการนำมาจำหน่ายไม่เกิน 200 บาทต่อชุด ให้ซื้อได้คนละไม่เกิน 3 ชุด ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่ง

ทางด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงในประเด็นมาตรการหลังตรวจหาเชื้อโควิค ด้วยชุด Antigen Test Kit แล้วพบว่าติดเชื้อ ทั้งที่มีอาการ และไม่มีอาการ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า หากมีความสงสัย อยากเดินเข้าโรงพยาบาลไปตรวจหาเชื้อก็สามารถไปได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐ และเอกชนในกรุงเทพมหานคร ทั้ง 132 แห่ง เมื่อตรวจโดย ATK หรือ PCR แล้ว หากติดเชื้อ ก็สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้

  • ถ้าไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก

สามารถแยกกับตัวที่บ้านได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการกักตัวที่บ้านในทันที เป็นการดูแลผ่านระบบทางไกล และจะได้รับกล่องอุปกรณ์ในการดูแลตนเอง หรือหากจำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวีย ก็จะได้รับ

หลังจากนั้น จะมีการติดตามครบ 14 วัน ซึ่งวันนี้มีอยู่ 226 หน่วย และจะมากขึ้นอีกตามระบบของโรงพยาบาล ซึ่งวันนี้สามารถดูแลประชาชน ได้เต็มรูปแบบตามระบบสาธารณสุขแล้ว 60,000 คน โดยตั้งเป้าหมายว่าความสามารถที่จะทำได้ถึง 100,000 คน

นอกจากนี้ ยังมีระบบกักตัวชุมชน หรือศูนย์พักคอย โดยระบบของกรุงเทพมหานคร ที่จะตั้ง 68 แห่ง และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถรองรับประชาชนเข้าไปนอนได้ถึง 10,000 เตียง

วันนี้ สามารถดำเนินการได้แล้ว 46 แห่ง 5,000 กว่าเตียง โดยจะกระจายทุกเขต นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักคอยที่ดำเนินการโดยประชาชน ภาคประชาสังคมอีกกว่า 100 แห่ง โดยต้องให้ลงทะเบียนกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนด้านระบบสุขาภิบาล การกำจัดขยะติดเชื้อ การสนับสนุนอาหาร และยา ถ้าเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองแดง ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล โรงพยาบาลหลัก โดยดูตามอาการของแต่ละบุคคล

ชุดตรวจโควิด

  • หน่วย CCRT คือ ทีมทำงานทางด้านป้องกัน และแก้ไขปัญหา โควิด-19 เชิงรุกในชุมชน 226 ทีม

เป็นทีมเดินเท้า สามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้น สอบสวนโรค รักษาให้ยา ฉีดวัคซีนให้ได้ ทำงานได้ครบทุกหน้าที่เบ็ดเสร็จในตัว ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เข้าสู่ระบบกักตัวที่บ้าน หรือกักตัวในชุมชน

  • หากคิดว่ายังไม่ได้รับการบริการอย่างเหมาะสม หรือเพียงพอ หรือรอเตียงอยู่ที่บ้าน

สามารถเข้าสู่ระบบภาครัฐ และเอกชนได้โดย 1330 ของ สปสช. และอีกช่องทางหนึ่ง คือ เบอร์สายตรงของ 50 เขตกรุงเทพมหานคร โดยหนึ่งเบอร์มี 20 คู่สาย สามารถรองรับได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ทุ่มเทกำลังเต็มที่เพื่อบริการประชาชน

นพ.ณัฐพงศ์  ยืนยันว่าประชาชนทุกราย ที่มีผลบวก จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยรายใดที่จำเป็นต้องได้รับยา ก็จะได้รับ ซึ่งยาฟาวิพิราเวียมีอยู่เพียงพอ

แต่ถ้ามีอาการเร่งด่วนฉุกเฉิน ที่คิดว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตจาก โควิด-19 สามารถขอร้องขอความช่วยเหลือด่วนที่ 1669 สายด่วนช่วยชีวิต

ศปก.ศบค. จัดทำระบบบูรณาการเพื่อพยายามบริหารจัดการให้กับประชาชนได้อย่างเหมาะสม ทันเวลา และทำให้ประชาชนได้รับบริการทุกคน ขอยืนยันว่า ผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อ โควิด-19 จะได้รับเข้าสู่ระบบการรักษาทางการสาธารณสุข และการแพทย์อย่างเหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo