COVID-19

Walk In ฉีดวัคซีนโควิด ไม่ต้องจอง มอบจังหวัดดำเนินการ หวังปูพรมฉีดเข็มแรกให้มากที่สุด

Walk In ฉีดวัคซีนโควิด กรรมการวัคซีนแห่งชาติ ให้อำนาจแต่ละจังหวัดดำเนินการได้ทันที หวังฉีดเข็มแรกได้มากที่สุด เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่ม 150 ล้านโดส ปี 2565

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้มีมติปรับรูปแบบการจัดหา และฉีดวัคซีน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการจัดหาวัคซีนโควิด19 ให้เพียงพอกับประชาชนทุกคน โดยหนึ่งในข้อสรุปสำคัญคือ ปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้มีการปูพรมเข็มแรกกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ลดโอกาสความรุนแรง และเสียชีวิต ด้วยการให้ประชาชน Walk In ฉีดวัคซีนโควิด

Walk In ฉีดวัคซีนโควิด

สำหรับการจัดหาวัคซีน จะจัดหาวัคซีนโควิดเพิ่มเติมจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดสในปี 2565 โดยเร่งทำงานเชิงรุก ในการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้เร็ว และมากรายที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับวัคซีน และให้ครอบคลุมถึงสายพันธุ์อื่น ๆ สายพันธุ์กลายพันธุ์ หากมีการทดลองวิจัยแล้ว

ขณะที่แนวทางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป ที่จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนนั้น จะมี 3 รูปแบบ คือ

1. รูปแบบการนัดผ่านไลน์ หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะจัดให้

2. นัดเป็นกลุ่มก้อน เช่น พี่น้อง อสม. หรือองค์กรภาครัฐและเอกชน

3. การปูพรมเรื่องของ Walk In ซึ่งรายละเอียด ได้มอบหมายให้ กรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการ โดยจะให้ทางพื้นที่ หรือแต่ละจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้ดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณามาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการบริจาคเงิน และทรัพย์สิน ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาการผลิต และการกระจายวัคซีนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ

วัคซีน 1

จากการลงพื้นที่ ไปตรวจเยี่ยมศูนย์วัคซีนต่าง ๆ คำถามแรกคือ รับนัดก่อน หรือใครมาก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทุกรูปแบบ จึงได้ย้ำกับทุกท่านว่า โอเค แต่ขอให้พิจารณา Walk In และต้องจัดวัคซีนให้เพียงพอ และอำนวยการความสะดวกให้มากที่สุด ซึ่งพื้นที่ไหนพร้อมก็เริ่มได้เลย”นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การ Walk In อาจไม่ได้ทุกคน หากบางศูนย์มีคนมารับบริการมาก แต่ก็พยายามทำให้เกิดความสะดวกสบายมากที่สุด โดยเป็นนโยบายที่ให้ดำเนินการทั่วประเทศ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละจังหวัด  ว่าจะเริ่มอย่างไร เพราะการบริหารภายใต้ของ ศบค. จะมีการจัดลำดับขั้นตอนการบริหาร โดย สธ. มีหน้าที่หลักในการจัดหาวัคซีน เพื่อให้แต่ละพื้นที่ ไปบริหารจัดการกัน ในแต่ละพื้นที่

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อย อยากฉีดวัคซีน ก็อยากอำนวยความสะดวกตรงนี้ จึงได้จัดบริการรูปแบบ Walk In โดย กรมควบคุมโรค เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่ง คร.จะระบุยอดเป้าหมายการฉีดแต่ละจังหวัด โดยภาพรวมจะให้แต่ละจังหวัดอย่างน้อยครอบคลุมประชากร 70% ของประชากร

“คำว่า ปูพรมคือ ฉีดทุกคนในพื้นที่ที่สมัครใจให้มากที่สุด ซึ่งการ Walk In นั้นจะสอดคล้องกับปูพรม คนที่โหลดจองผ่านแอปพลิเคชันได้ก็ดี จะได้ทราบวันเวลาชัดเจน แต่กรณีคนที่ทำไม่ได้ และคนที่มีความจำเป็น เช่น คนขับแท็กซี่ คนขันรถโดยสารสาธารณะ เขาอยากฉีด ทางแต่ละจังหวัดก็จะกำหนดพื้นที เช่น กทม. ประกาศจุดฉีดวัคซีน ซึ่งรายละเอียดจะเป็นที่แต่ละจังหวัดไปดำเนินการ และออกประกาศออกมา”นพ.โอภาส กล่าว

วัคซีนโควิดรพ.สนาม ๒๑๐๔๒๒

สำหรับการแบ่งสัดส่วนการฉีด เบื้องต้นจะใช้สูตร 30 : 50: 20 แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถปรับเปลี่ยนได้ ยกตัวอย่าง มีวัคซีน 1,000 โดส อาจเป็นตามนัดจากแอปพลิเคชัน 30% จากรพ. 50% และจาก Walk In อีก 20% เป็นต้น

ส่วนกรณี Walk In ต้องเป็นเฉพาะสถานพยาบาลหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมอยากให้มีทุกหน่วย แต่ ข้อจำกัดของ รพ. คือ กังวลเรื่องความแออัด อาจเกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนั้น Walk In จึงเหมาะสมกับพื้นที่โล่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ หรือจุฬาฯ ก็ไปเปิดจามจุรีสแควร์ เป็นต้น ซึ่งก็ต้องรอประกาศตามแต่ละจังหวัด เพราะคนรับผิดชอบการฉีด คือ คณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดนั้น ๆ

ทั้งนี้ จังหวัดไหนพร้อม สามารถเริ่มดำเนินการได้เลย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากที่สุด ส่วนการติดตามอาการหลังการฉีด จะมีการบันทึกข้อมูลไว้ อย่างหากฉีดเสร็จแล้วให้โหลด “หมอพร้อม” หรือหากใครไม่สะดวก ทางหน่วยบริการ จะมีการคีย์ข้อมูลทุกอย่างให้เป็นเอกสาร เช่นกัน เพราะเมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จะมีใบรับรองการรับวัคซีนครบโดสให้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo