COVID-19

สะพรึง!! สหรัฐ-ทั่วโลก พบโอไมครอน JN.1 กลายพันธุ์ใหม่ หวั่นหลบภูมิคุ้มกัน-ระบาดวงกว้าง

ศูนย์จีโนมฯ เผยสหรัฐและทั่วโลก พบโอไมครอน JN.1 กลายพันธุ์ส่วนหนามเพิ่ม อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเข้าสู่เซลล์ได้ดีขึ้น ส่งผลให้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  เตือนสหรัฐ-ทั่วโลก พบโอไมครอน JN.1 กลายพันธุ์ใหม่ หวั่นหลบภูมิคุ้มกัน-ระบาดวงกว้าง โดยระบุว่า

โอไมครอน JN.1 กลายพันธุ์

ระวัง!! สหรัฐและทั่วโลกสังเกตพบโอไมครอน JN.1 มีการกลายพันธุ์ส่วนหนามในรูปแบบใหม่สองตำแหน่งที่เรียกว่า FLiRT (F456L+R346T) เพิ่มจาก JN.1 ดั้งเดิม อันอาจทำให้สายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่นี้ หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและเข้าสู่เซลล์ได้ดีขึ้นส่งผลให้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ  (The United States Centers for Disease Control and Prevention, U.S. CDC) รายงานการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2567 คือระยะเวลา 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ พบตระกูลโอไมครอน 3 สายพันธุ์แรกที่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐในขณะนี้คือ JN.1, JN.1.13, และ JN.1.18 คิดเป็น 86.0%, 10.8%, และ 1.6% ตามลำดับ ของโควิดทั้งหมดที่ระบาดหมุนเวียนภายในประเทศ

โอไมครอน1

ทั้งนี้ พบการกลายพันธุ์เพิ่มสองตำแหน่งคือ F456L และ R346T เรียกรูปแบบการกลายพันธุ์ลักษณะนี้ว่า FLiRT (F456L+R346T) โดยเฉพาะในโอไมครอน JN.1.13 และ JN.1.18 ซึ่งต้องเฝ้าติดตามผลกระทบด้านคลินิกกันต่อไป

การกลายพันธุ์ F456L หมายถึง กรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (F) ที่ตำแหน่ง 456 ถูกแทนที่ด้วยลิวซีน (L) การกลายพันธุ์นี้อยู่ในส่วนของโปรตีนหนาม (Receptor Binding Domain, RBD) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรตีนหนามบนเปลือกของอนุภาคไวรัส SARS-CoV-2 เป็นส่วนที่ใช้ในการจับกับตัวรับ ACE2 (Angiotensin Converting Enzyme 2) บนผิวเซลล์มนุษย์ ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ได้

โอไมครอน3

การกลายพันธุ์ R346T หมายถึง กรดอะมิโนอาร์จินีน (R) ที่ตำแหน่ง 346 ถูกแทนที่ด้วยทรีโอนีน (T) การกลายพันธุ์นี้อยู่ในโดเมน N-terminal (NTD) บริเวณปลายของโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของแอนติบอดี(ที่มีฤทธิ์ต้านไวรัส) เข้าจับอนุภาคไวรัสและทำลาย การเปลี่ยนแปลงในบริเวณนี้อาจช่วยให้ไวรัสหลบหลีกการจดจำของแอนติบอดี

การกลายพันธุ์ทั้งสองนี้ เมื่อรวมกับการกลายพันธุ์ที่มีอยู่ในสายพันธุ์ JN.1 เดิมคาดว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถของไวรัสในการติดเชื้อกับเซลล์ และอาจหลบหลีกการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน การเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนเฉพาะ F456L และ R346T เป็นที่น่ากังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการแพร่กระจายและการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น

โอไมครอน กลย1

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การกลายพันธุ์เหล่านี้ เป็นการลองผิดลองถูกของไวรัสที่ระบบการตรวจจับระดับจีโนมของมนุษย์ (Global SARS-CoV-2 genomic surveillance) เข้าไปตรวจพบ มิได้หมายความว่าไวรัสจะต้านทานหรือดื้อต่อระบบภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดีทำลายอนุภาคไวรัส สร้างโดยบีเซลล์/B-cell) โดยสมบูรณ์ 100%

ทั้งนี้เพราะการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ยังมีอีกหลายระบบ เช่นระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ที่อาศัยทีเซลล์/T-cell หลั่งสารกระตุ้นเซลล์เม็ดโลหิตขาวให้เข้าทำลายเซลล์ติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบุคคลที่ได้รับวัคซีนหรือเคยสัมผัสกับไวรัสมาก่อน

สหรัฐพบกลุ่มโอไมครอน JN.1 ที่เริ่มมีการกลายพันธุ์ของ ณ. S:F456L, S:R346T (FLiRT) ร่วมด้วยจากผู้ติดเชื้อ 254 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย JN.1.13 และ JN.1.18 โดยมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงที่สุดในปัจจุบัน เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดในสหรัฐขณะนี้ถึง 119% หรือ 2.19 เท่า

โอไมครอน3

 

นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะระบาดมาแทนที่โอไมครอน JN.1 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พบทั่วโลก 526 ราย หากคำนวณความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ทั่วโลก (รวมทั้งในสหรัฐร่วมด้วย) จะประมาณ 94% หรือ 1.94 เท่า

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบสายพันธุ์ JN.1 + S:F456L, S:R346T (FLiRT) ในไทย

การกลายพันธุ์ของโอไมครอนก่อนหน้านี้

โอไมครอนในปี 2566 พบการกลายพันธุ์บนส่วนหนามแบบ FLip (L455F+F456L) พบมากในโอไมครอน XBB, EG.5.1, และ HK.3 ปัจจุบันลดจำนวนลงและถูกแทนที่ด้วยโอไมครอน JN.1 ขณะนี้ความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นคือ -11% หรือเพียง 0.89 เท่า

โอไมครอน หลาน

ปลายปีที่แล้ว 2566- ต้นปีนี้ 2567 พบบริเวณส่วนหนามของโอไมครอน JN.1 กลายพันธุ์ที่เรียกว่า SLip (L455S+F456L) พบมากในโอไมครอน JN.1 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ในปัจจุบันเหนือกว่าสายพันธุ์อื่นขณะนี้ไม่มากประมาณ 50% หรือ 1.5 เท่า คาดว่าจะถูกแทนที่ด้วยโอไมครอน JN.1 + S:F456L, S:R346T (FLiRT) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ล่าสุดในปี 2567 เป็นต้นมาจึงพบการกลายพันธุ์ของโอไมครอน JN.1 + S:F456L และ S:R346T (FLiRT) ที่ต้องเฝ้าติดตามผลกระทบ พบมากในโอไมครอน JN.1.13 และ JN.1.18

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo