COVID-19

ข่าวดี!! ไม่พบโอไมครอน ‘BA.2.87.1’ ในไทย ‘JN.1’ ยังยึดตำแหน่งสายพันธุ์หลัก

ศูนย์จีโนมฯ เผยผลถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมโควิด-19 ในไทย พบโอไมครอน JN.1 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก ตามด้วยสายพันธุ์ย่อย JN.1.4 ส่วน BA.2.87.1 ยังไม่พบในประเทศไทย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  เรื่อง การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมโควิด-19 ในประเทศไทยเพื่อเฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ระหว่างเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี โดยระบุว่า

สายพันธุ์หลัก

โอไมครอน JN.1 ยังยึดพื้นที่มากสุดในไทย

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานในประเทศไทยที่ดำเนินการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรม SARS-CoV-2 ทั้งจีโนมจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีโอไมครอน JN.1 ปรากฏเป็นสายพันธุ์หลัก คิดเป็น 26% ของตัวอย่างที่สุ่มสวอบ (swab) จากโพรงจมูกมาถอดรหัสพันธุกรรม

นอกจากนี้โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย JN.1.4 ถูกตรวจพบเป็นอันดับสองคือ 16% พบโอไมครอน BA.2.86.1 และ HK.3.2 คิดเป็น 12% เท่ากันและโอไมครอน JN.1.1 ประมาณ 10% ของบรรดาโอไมครอนสายพันธุ์ที่ระบาดหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย (สุ่มสวอบจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 50 ราย)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบโอไมครอน BA.2.87.1 ในประเทศไทย แม้จะสุ่มพบจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียง 9 คนในแอฟริกาใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ขณะนี้ไม่มีรายงานผู้ป่วยในสหรัฐ หรือนอกแอฟริกาใต้ แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากบนโปรตีนส่วนหนาม ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่สายพันธุ์ใหม่นี้ จะมีการกลายพันธุ์ต่อไปและจะสามารถหลุดรอดจากภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีน หรือการติดเชื้อตามธรรมชาติได้

สายพันธุ์หลัก

ทั้งนี้ ทำให้ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (The European Centre for Disease Prevention and Control: ECDC) กำลังเฝ้าติดตามโอไมครอน BA.2.87.1 อยู่เช่นกัน โดยจัดอันดับให้เป็นสายพันธุ์ภายใต้การติดตาม (variant under monitoring: VUM)

จากรหัสพันธุกรรมของโอไมครอน BA.2.87.1 ถูกประเมินว่าไม่สามารถแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีโอไมครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก แต่อาจมีการแพร่ระบาดได้ดีในภูมิภาคที่มีความชุกของโอไมครอน JN.1 ต่ำ ซึ่งในพื้นนั้นอาจช่วยส่งเสริมให้โอไมครอน BA.2.87.1 เพิ่มจำนวนจนเกิดการกลายพันธุ์ที่เพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันและการแพร่ระบาดที่ดีขึ้น

จำนวนโอไมครอนสายพันธุ์ต่าง ๆ หรือความชุกที่พบ (frequencies) ในประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีความสำคัญอย่างยิ่งด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเข้าใจถึงสายพันธุ์ที่แพร่ระบาด เหมือนหรือต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ทางคลินิกและเป็นแนวทางในการป้องกันและรักษา

สายพันธุ์หลัก

สำหรับนักพัฒนาวัคซีน ข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมนี้ จะมีความสำคัญในการพัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อจัดการเหล่าโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว

หน่วยงานวางกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้รับประโยชน์จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 ในไทยที่ทยอยแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) แบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามจากไวรัสโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเฝ้าระวัง ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ SARS-CoV-2 (Genomic surveillance of SARS-CoV-2) อันจะเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการปรับปรุงแนวทางการป้องกันเชิงรุก และการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและแอนติบอดีสำเร็จรูป รวมทั้งพัฒนาชุดตรวจ ATK หรือ PCR ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของไวรัส

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo