COVID-19

ศูนย์จีโนมฯ เตือนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19

ศูนย์จีโนมฯ เผยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าบุคคลที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs มีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

การระบาดใหญ่ดังกล่าวส่งผลให้การวินิจฉัยและการจัดการโรค NCDs ต้องหยุดชะงักอย่างมาก โดยบริการต่างๆ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็ง และการจัดการโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ

WHO เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาบริการ NCD ที่จำเป็นในช่วงภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ รวมถึงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และแนะนำให้บูรณาการ NCDs เข้ากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงประเภทอื่น ๆ

นอกจากนี้ การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ยังเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยทางจิตที่เพิ่มขึ้น และบุคคลที่มีอาการป่วยเรื้อรังบางอย่างก็มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ที่รุนแรงมากขึ้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดลำดับความสำคัญของบุคคลที่เป็นโรค NCDs ในการฉีดวัคซีน และดูแลให้มีการดูแลรักษา NCD อย่างต่อเนื่องในช่วงของโรคอุบัติใหม่

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ร่วมมือกับวิสาหกิจเพื่อสังคม กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม โดยได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานของภาครัฐ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS ได้ใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์และอีพีจีโนมิกส์สร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีการวิเคราะห์และติดตามผลผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแรงจูงใจให้กับประชาชนทุกเศรษฐานะในการปรับวิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบจากโรค NCDs ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19

โรคอ้วน

โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงป่วยหนักจากโรคโควิด-19 จากการศึกษาในฝรั่งเศสพบโอกาสที่จะเกิดโรคโควิด-19 ระดับรุนแรงในผู้ป่วยโรคอ้วนสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่อ้วนถึง 7 เท่า การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อรักษาสมดุลทางโภชนาการมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมาในการต่อสู้กับโควิด-19

การสูบบุหรี่

จากการทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ (Meta-analysis) พบว่าในผู้สูบบุหรี่ 2 คนมีแนวโน้มที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโควิด-19 มากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 1.5 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า

โควิด

แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์บั่นทอนความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อโรค เช่น โควิด-19 แม้แต่การดื่มหนักเพียงครั้งเดียวก็สามารถลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างวัดผลได้ ความมึนเมายังทำให้ละเลยการป้องกันการติดเชื้อขั้นพื้นฐานเช่น กินร้อน ช้อนกลาง เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ลงอย่างมาก

การไม่ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด และลดความวิตกกังวล การออกกำลังกายยังเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน น้ำหนักเกิน และโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิดที่รุนแรง

มลพิษ

มีสมมติฐานความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสมลพิษทางอากาศกับการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มลพิษทางอากาศ เช่น PM2.5 ส่งผลต่อการทำงานของปอด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึงโรคโควิด-19

โรคเบาหวาน

จากการทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ (Meta-analysis) ระบุว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่าคนไม่เป็นเบาหวานถึงสามเท่า และสถานการณ์มีแนวโน้มแย่ลงสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้

โรคหัวใจและหลอดเลือด

จากการทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ (Meta-analysis) พบว่าความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดในสมองเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ชนิดรุนแรง 2.3, 2.9 และ 3.9 เท่า ตามลำดับเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เป็นโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าความดันโลหิตสูงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ถึง 3.5 เท่า

โรคระบบทางเดินหายใจ

จากการทบทวนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ (Meta-analysis) ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 การศึกษาในสหราชอาณาจักรชี้ให้เห็นว่าการมีอยู่ของโรคทางเดินหายใจ รวมถึงโรคหอบหืด ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อ การเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

มะเร็ง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีแนวโน้มที่จะประสบกับโรคโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น การศึกษาในเมืองหวู่ฮั่น ประเทศจีน พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยมะเร็ง และสูงเป็นพิเศษในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเลือด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo