COVID-19

ทำความเข้าใจภาวะลองโควิด vs ลองแวกซ์ ย้ำฉีดวัคซีนลดเกิดลองโควิด

ศูนย์จีโนมฯ ชวนทำความเข้าใจภาวะลองโควิด และลองแวกซ์ อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ผลวิจัยชัดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดลองโควิดได้อย่างมาก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  เรื่อง ลองโควิด ตอนที่ 3 โดยระบุว่า

ภาวะลองโควิด

มาทำความเข้าใจภาวะลองโควิด และอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19

ความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับภาวะลองโควิดเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีการวิจัยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาคำตอบ

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดลองโควิดได้อย่างมาก มีการนำข้อมูลจากการศึกษาด้านวัคซีนโควิดจากหลายแหล่งมาวิเคราะห์รวมกัน (meta analysis) เพื่อให้เข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนเหล่านี้สามารถแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนสองโดสสามารถลดโอกาสที่จะเกิดลองโควิดได้ประมาณ 36.9%

การฉีดวัคซีนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่ลดลงของลองโควิดโดยประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันการเกิดลองโควิดจะอยู่ระหว่าง 29% ถึง 52%

ในประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์กำหนด อุบัติการณ์ของลองโควิดนั้นต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเกือบ 21%

บุคคลที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดสก่อนติดเชื้อไวรัส มีโอกาสน้อยที่จะประสบกับอาการลองโควิดถึงประมาณ 4 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้แก่ อาการปวด บวม และแดงบริเวณที่ฉีด รวมถึงอาการทางระบบ เช่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น มีไข้ คลื่นไส้ และต่อมน้ำเหลืองบวมที่ใต้วงแขนด้านข้าง ของตำแหน่งที่ฉีด

shutterstock 2424726637

ผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยนักคือ วัคซีนป้องกันโควิด-19 บางชนิด เช่น วัคซีนที่พัฒนาโดยใช้ไวรัสเป็นพาหะมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำในสมอง (CVST) และกลุ่มอาการภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

วัคซีน mRNA มีความเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในบางกรณีซึ่งพบไม่บ่อยนัก โดยส่วนใหญ่เกิดในวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะเพศชาย หลังจากได้รับเข็มที่สอง

แม้จะมีผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อยเหล่านี้ แต่ประโยชน์โดยรวมของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ลดการเกิดลองโควิด และลดอัตราการเสียชีวิตก็มีมากกว่าความเสี่ยงมาก

ความไม่แน่นอนบางประการเกี่ยวกับวัคซีนและลองโควิด

กลไกที่แน่นอนของวัคซีนที่อาจส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดอาการลองโควิดยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้

แม้ว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะชี้ให้เห็นถึงผลของการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันอาการลองโควิด แต่ก็ยังไม่อาจฟันธงลงไปได้เพราะบางคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ยังคงเกิดอาการลองโควิดได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยใหม่เกี่ยวกับอาการที่เรียกว่า ลองแวกซ์(Long Vax) ซึ่งแสดงอาการคล้ายกับอาการลองโควิด (Long COVID) แต่อาจถูกกระตุ้นจากตัววัคซีนไม่ใช่จากไวรัส เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจความชุกและกลไกของ อาการ ลองแวกซ์ เพื่อแยกให้ออกจาก ลองโควิด

ข้อเปรียบเทียบระหว่าง  ลองแวกซ์ กับ ลองโควิด 

ลองแว็กซ์

  • ลองแว็กซ์ (Long post-COVID vaccination syndrome :LPCVS)” หมายถึงอาการที่อาจเกิดขึ้นระยะยาวหลังจากได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19
  • อาการอาจรวมถึงอาการปวดหัว เหนื่อยล้า ปัญหาความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคระบบประสาท หูอื้อ และกลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (POTS)
  • ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก มีข้อมูลทางคลินิกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการให้สืบค้น อ้างอิง ไม่มากนัก
  • ไม่ใช่โรคแต่เป็นกลุ่มอาการ

ลองโควิด1

ลองโควิด

  • หมายถึงภาวะหรืออาการระยะยาวที่คงอยู่ภายหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเฉียบพลัน
  • อาการลองโควิดเป็นสภาวะที่ซับซ้อน มีผลกระทบต่อหลายอวัยวะ และนำไปสู่อาการทางระบบประสาทและการรับรู้ เช่น
  • อาการป่วยไข้หลังออกกำลังกาย (อาการแย่ลงหลังจากออกแรงทางร่างกายหรือจิตใจ แม้จะเล็กน้อยก็ตาม)
  • ความเหนื่อยล้า
  • ภาวะสมองล้า
  • อาการวิงเวียนศีรษะ
  • ความจำเสื่อม และความบกพร่องทางสติปัญญา
  • อาการทางเดินอาหาร
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  • ปัญหาเกี่ยวกับความต้องการหรือความสามารถทางเพศ
  • สูญเสียการรับกลิ่นหรือรสชาติ
  • ความกระหายน้ำ
  • อาการไอเรื้อรัง
  • อาการเจ็บหน้าอก

โดยรวมแล้ว ลองโควิดเป็นสภาวะที่มีความซับซ้อนและมีผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ ภาวะลองโควิดทำให้ร่างกายอ่อนแอลงหลังการติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) พบมากกว่า 10% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และพบมากกว่า 200 อาการ ส่งผลต่ออวัยวะหลายระบบ ทั่วโลกมีผู้ป่วยอาการลองโควิดประมาณ 65 ล้านคนที่ต้องทนทุกข์ทรมาน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึง

  • การฉีดวัคซีนยังคงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันตนเองจากผลกระทบด้านลบของโรคโควิด-19 รวมถึงลองโควิด
  • แม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ขจัดความเสี่ยงของการเกิดลองโควิดได้อย่างสมบูรณ์ แต่หลักฐานแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสามารถลดความเสี่ยงได้อย่างมาก
  • หากกังวลเกี่ยวกับลองโควิดหรือลองแว็กซ์ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเฉพาะบุคคลโดยพิจารณาจากสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo