COVID-19

ถอดบทเรียน ‘ติดโควิด-ติดเชื้อซ้ำ’ ระยะยาวเสี่ยงเกิด 6 โรคทางเดินหายใจ รวมถึงมะเร็งปอด

ถอดบทเรียน ผลที่ตามมาจากการ “ติดโควิด-ติดเชื้อซ้ำ” ระยะยาวเสี่ยงเกิด 6 โรคทางเดินหายใจ รวมถึงมะเร็งปอด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เรื่อง ถอดบทเรียนสำคัญ “โรคระบบทางเดินหายใจ” ที่เกิดติดตามมาหลังการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชากรจากธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพของสหราชอาณาจักร (UK Biobank) จำนวนกว่า 5 แสนคน

ติดโควิด

ติดโควิดติดเชื้อซ้ำ ระยะยาวเสี่ยงเกิด 6 โรคทางเดินหายใจ

ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ SARS-CoV-2 รุนแรงหรือติดเชื้อซ้ำ (นอกจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการลองโควิดแล้วยัง)เสี่ยงที่จะเกิดโรคระบบทางเดินหายใจอื่นติดตามมา อาทิ โรคหอบหืด โรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคพังผืดที่ปอด (ILD) โรคหลอดเลือดระหว่างหัวใจและปอด (PVD) และมะเร็งปอด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ว่าโควิด-19 “ไม่ใช่ไข้หวัดทั่วไปที่ปล่อยให้ติดเชื้อและหายเองได้” ตรงข้ามจำเป็นต้องป้องกันตัวเองไม่ติดโควิด-19  (ล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีน) และหากติดแล้วต้องรีบรักษาด้วยยาต้านไวรัส หากสามารถดำเนินการได้ (เพื่อลดจำนวนไวรัสที่เข้ามาเพิ่มจำนวนในร่างกาย) ทันที

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ลดความรุนแรงของการติดเชื้อหรือป้องกันการติดเชื้อซ้ำไปพร้อมกัน อาจช่วยลดความเสี่ยงทางอ้อมของโรคทางเดินหายใจในระยะยาวได้

ติดโควิด

ทีมวิจัยจีน-สหรัฐ ร่วมวิเคราะห์ข้อมูล จากธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ ในสหราชอาณาจักร

ทีมวิจัยจากจีนและสหรัฐอเมริกา สถาบันจากประเทศจีนประกอบด้วยโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลหลายแห่งในมณฑลกวางตุ้ง และศูนย์ป้องกันมะเร็งในกว่างโจว ส่วนสหรัฐอเมริกา จากโรงเรียนแพทย์ David Geffen แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส และ กิจการทหารผ่านศึก Greater Los Angeles Healthcare System

ร่วมด้วยช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลจากธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพของประชากรในสหราชอาณาจักร (UK Biobank)  ในส่วนของเวชระเบียนที่มีข้อมูลทางคลินิกผู้เข้าร่วมในโครงการจำนวน 502,368 ราย อายุระหว่าง 37 ถึง 73 ปี ซึ่งลงทะเบียนตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2553 และทยอยเก็บข้อมูลทางคลินิกตลอดมา

โดยเลือกใช้ประชากรกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันสามกลุ่มสำหรับการวิเคราะห์ และลงตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์ Lancet Vol 69 ฉบับเดือนมีนาคม 2567:

  1. กลุ่มที่เป็นโรคโควิด-19 : มีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 112,311 ราย ระหว่าง “วันที่ 30 มกราคม 2563 – 30 ตุลาคม 2565”
  2. กลุ่มควบคุมร่วมสมัย: 359,671 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ภายในวันที่ 30 มกราคม 2563 ไม่เคยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19
  3. กลุ่มควบคุมก่อนโควิด-19 ระบาดและก่อนมีการใช้วัคซีนโควิด-19: จำนวน 370,979 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2560 ไม่เคยได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19

*วันที่ 30 มกราคม 2563 เป็นวันที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่น่ากังวล*

ติดโควิด

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ลดเสี่ยงการเกิดโรคทางเดินหายใจในระยะยาว

ในการศึกษานี้พบข้อมูลสำคัญ 5 ประการ

  1. พบความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างโรคโควิด-19 กับความเสี่ยงระยะยาวที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ อาทิ โรคหอบหืด โรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคพังผืดที่ปอด (ILD) โรคหลอดเลือดระหว่างหัวใจและปอด (PVD) และมะเร็งปอด
  2. พบว่าความเสี่ยงของโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นตามอาการความรุนแรงในผู้ป่วยโรคโควิด-19 บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องให้ความสนใจกับผลที่ตามมาของโรคทางเดินหายใจที่จะติดตามมาหลังการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากมีการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเฉียบพลันรุนแรง
  3. จากการติดตามในช่วงเวลากว่า 2ปี พบความแตกต่างของผู้ติดเชื้อโควิด-19 กับความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินหายใจที่แตกต่างกัน อาทิ ความเสี่ยงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคพังผืดที่ปอด (ILD) โรคหลอดเลือดระหว่างหัวใจและปอด (PVD) และมะเร็งปอดจะ “ลดลง” เป็นลำดับ ในขณะที่ความเสี่ยงของโรคหอบหืด โรคหลอดลมโป่งพอง กลับเพิ่มขึ้น
  4. ในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ซ้ำ พบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงในระยะยาวของโรคหอบหืด โรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคพังผืดที่ปอด (ILD) โรคหลอดเลือดระหว่างหัวใจและปอด (PVD) และมะเร็งปอด

การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อซ้ำของโควิด-19 เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจอื่นที่จะเกิดติดตามมาหลังการติดเชื้อซ้ำของ SARS-CoV-2

การระบุโรคระบบทางเดินหายใจเฉพาะเจาะจงที่มีความเสี่ยงในระยะยาวในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ ทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เพิ่มมากขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางกลยุทธ์การป้องกันและรักษาที่ปรับให้เหมาะสม สามารถนำไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง

ติดโควิด

  1. พบความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญระหว่างโรคโควิด-19 กับความเสี่ยงระยะยาวที่เพิ่มขึ้นในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ตั้งแต่ก่อนมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ทั่วประเทศมีผลในการลดการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจในระยะยาว และการฉีดวัคซีนไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดโรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคพังผืดที่ปอด (ILD) โรคหลอดเลือดระหว่างหัวใจและปอด (PVD) และมะเร็งปอด

แต่ที่ต้องระวังคือพบว่าการฉีดวัคซีนอาจส่งเสริมให้การเจ็บป่วยโรคหอบหืดมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับผลลัพธ์จากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ  จำเป็นต้องมีการเฝ้าติดตามดูแลผู้ป่วยโรคหอบหืดที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นการเฉพาะ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo