COVID-19

สรุปสถานการณ์ระบาดล่าสุด ‘โอไมครอน BA.2.87.1’ น่ากังวลแต่ไหน?

ศูนย์จีโนมฯ สรุปสถานการณ์ระบาดล่าสุด “โอไมครอน BA.2.87.1” น่ากังวลแต่ไหน?

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics สรุปสถานการณ์ระบาดล่าสุดของโอไมครอน BA.2.87.1 รวบรวมจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC), ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC), ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa CDC), ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสาธารณรัฐประชาชนจีน (China CDC) และองค์การอนามัยโลก (WHO)

โอไมครอน BA.2.87.1

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา หรือ “US CDC”

รายงานเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ว่ากำลังติดตามไวรัส SARS-CoV-2 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่าโอไมครอน BA.2.87.1 อยู่ในขณะนี้ โดยมีการอัปเดตข้อมูลทุกสัปดาห์ พบว่าในสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงด้านสาธารณสุขต่ำ

US CDC ได้วิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของ BA.2.87.1 ที่พบจากผู้ป่วยเก้ารายในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แยกได้จากตัวอย่างสวอปที่รวบรวมตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2566 และแชร์ข้อมูลไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส  (GISAID) โดยยังไม่พบผู้ติดเชื้อ BA.2.87.1 ในสหรัฐอเมริกาหรือที่อื่นนอกประเทศแอฟริกาใต้

US CDC กำลังสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 จากผู้ป่วยโควิด-19 ภายในประเทศและจากน้ำเสียตามแหล่งชุมชุนใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงจากนักเดินทางต่างชาติทั่วโลกที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐ จากข้อเท็จจริงพบ BA.2.87.1 จากผู้ป่วยโควิด-19 เพียงเก้ารายในประเทศแอฟริกาใต้นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่า BA.2.87.1 ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ดีนัก อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้

การที่ US CDC ติดตามโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.87.1 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่วนหนามของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 30 ตำแหน่งเมื่อเปรียบเทียบกับโอไมครอน XBB.1.5 ซึ่งถูกใช้เป็นต้นแบบหรือสารตั้งต้นในการผลิตวัคซีนรุ่นล่าสุดที่ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐระบุให้ใช้ระหว่าง พ.ศ. 2566-2567 ตามทฤษฎีแล้วการที่ไวรัสกลายพันธุ์ไปมากแตกต่างไปจากสายพันธุ์ที่ใช้เป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีน อาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่โอไมครอน BA.2.87.1 จะสามารถหลบเลี่ยงหรือหลุดพ้นจากภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนที่สร้างจากต้นแบบโอไมครอน XBB.1.5

ในปีที่ผ่านมาพบโอไมครอนหลายสายพันธุ์ย่อย ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่โปรตีนบริเวณส่วนหนามแตกต่างกันไป แต่ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติก่อนหน้านี้ยังคงให้การป้องกันที่ดีต่อเรา ไม่ให้มีการเจ็บป่วยโรคโควิด-19 ที่รุนแรง

ยังไม่แน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันที่มีอยู่จะสามารถต้านทาน BA.2.87.1 ได้ดีเพียงใด อย่างไรก็ตามขณะนี้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของประชากรส่วนใหญ่ของโลกมีประสบการณ์ต่อการติดเชื้อโควิด-19 และจากการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆมาเกือบ 5 ปี ทำให้พบภูมิคุ้มกันของเราโดยรวมสามารถป้องกันโควิด-19 หลากกหลายสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องได้ดีในระดับหนึ่ง

โอไมครอน BA.2.87.1

ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังของสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ไม่พบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อโอไมครอน BA.2.87.1 ในแอฟริกาใต้

ไม่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในส่วนของภูมิภาคนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ไม่มีรายงานจากแอฟริกาใต้(ส่งให้องค์การอนามัยโลก) เกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในแอฟริกาใต้

ผลกระทบต่อวัคซีน การรักษาด้วยยา และชุดทดสอบทางห้องปฏิบัติการ

ยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าวัคซีนในปัจจุบันจะทำงานได้ดีเพียงใดกับ BA.2.87.1 แต่ประสบการณ์ล่าสุดกับโอไมครอน JN.1 แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ล่าสุดมีการผลิตโดยอาศัยโอไมครอน XBB.1.5 เป็นต้นแบบสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโอไมครอนสายพันธุ์ที่หลากหลายได้

นอกจากนี้ยังประเมินได้ว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโควิด-19 และการตรวจสอบการติดเชื้อโอไมครอน BA.2.87.1 จากการสวอปด้วยชุดตรวจ ATK และ PCR ทางห้องปฏิบัติการจะยังคงมีประสิทธิภาพเช่นเดิม โดยอ้างอิงผลจากการวิเคราะห์ที่ดำเนินการโดย “SARS-CoV-2 Interagency Group” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา

โอไมครอน BA.2.87.1

US CDC ประเมินสถานการณ์การระบาดของโอไมครอน BA.2.87.1 ในปัจจุบันดังนี้

  • US CDC จะติดตาม BA.2.87.1 นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ย่อยนี้มีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนส่วนหนามไปมากกว่า 30 ตำแหน่งเทียบกับโอไมครอน XBB.1.5 ทำให้มีโอกาสสูงที่จะหลุดรอดจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติก่อนหน้านี้
  • การตรวจพบผู้ป่วย BA.2.87.1 ในสามจังหวัดของแอฟริกาใต้ในช่วงสามเดือนแสดงให้เห็นว่าโอไมครอน BA.2.87.1 นี้สามารถแพร่กระจายระหว่างคนสู่คนได้ ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการกลายพันธุ์ไปมากเช่นกัน แต่ไม่พบการระบาดระหว่างคนสู่คน
  • อย่างไรก็ตาม มีการตรวจพบ BA.2.87.1 ไม่มากนักนับตั้งแต่ตัวอย่างแรกที่พบในเดือนกันยายน ซึ่งบ่งบอกว่าจนถึงขณะนี้ BA.2.87.1 ยังไม่สามารถแพร่ติดต่อได้ดีนัก
  • ประสบการณ์จาก BA.2.86 ที่พบครั้งแรกในเดนมาร์กและ อิสราเอล ติดตามมาด้วยการพบที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าความสามารถของไวรัสในการแพร่กระจายค่อนข้างช้า แต่จากกลายพันธุ์เพียงครั้งเดียวที่ “L455S” บริเวณส่วนหนามของ BA.2.86 กลายเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย JN.1 ที่กลับมีความสามารถในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกขณะนี้

โอไมครอน BA.2.87.1

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (The European Centre for Disease Prevention and Control: ECDC)

ECDC ได้จัดแบ่งสายพันธุ์โควิด-19 เป็น 3 ระดับ คล้ายกับองค์การอนามัยโลก

  • สายพันธุ์ที่น่ากังวล: variants of concern (VOCs)
  • สายพันธุ์ที่น่าสนใจ:  variants of interest (VOIs) และ
  • สายพันธุ์ภายใต้การติดตามตรวจสอบ: variants under monitoring (VUM)

ระหว่างสัปดาห์ที่ 19 มกราคม 2567 –  2 กุมภาพันธ์ 2567  ECDC ได้จัดให้ BA.2.87.1  ให้อยู่ในประเภท VUM เนื่องจากประเมินจากรหัสพันธุกรรมของ BA.2.87.1 พบความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ประมาณ 1.05 เท่า หรือ 5%  และพบการแพร่ระบาดจากประเทศแอฟริกาใต้มายังอิตาลี ดังนั้นควรติดตามการกลายพันธุ์ BA.2.87.1 “หากเกิดขึ้น” อาจสามารถแพร่ระบาดมาแข่งกับโอไมครอน JN.1 ได้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสาธารณรัฐประชาชนจีน (China’s CDC)

China CDC แถลงว่าในเดือนมกราคม 2567 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโอไมครอน JN.1 เพียง 134 รายทั่วประเทศ โดยยังไม่พบโอไมครอน BA.2.87.1 ในจีน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่าแหล่งข่าวท้องถิ่น เช่นที่ มณฑลเจียงซูเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของจีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถึง 5,000 รายต่อวัน

โอไมครอน BA.2.87.1

องค์การอนามัยโลก (WHO)

แม้ว่า WHO จะประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคโควิดในเดือนพฤษภาคม 2566 แต่ WHO ได้เน้นย้ำว่าการระบาดใหญ่ (Pandemic) ยังไม่จบ เพียงแต่กำลังเข้าสู่ระยะที่เกิดเป็นโรคเฉพาะถิ่น (Endemic)

โควิด-19 ได้เปลี่ยนจากการแพร่ระบาดไปทั่วโลกสู่สถานะระบาดแบบโรคประจำถิ่น (Endemicity) มีลักษณะเฉพาะคือการปรากฏตัวของไวรัสอย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เสถียรและคาดเดาได้มากขึ้น คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไวรัสมีแนวโน้มจะเข้าสู่จังหวะการระบาดตามฤดูกาล โดยจะระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนที่อากาศหนาวเย็นในดินแดนทางตอนเหนือ และจะลดลงในฤดูร้อน

การเปลี่ยนแปลงไปสู่โรคประจำถิ่นคาดว่า เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในโลกมีภูมิคุ้มกันในวงกว้างจากการฉีดวัคซีน และการติดเชื้อตามธรรมชาติครั้งก่อน แม้ว่าโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความหวังก็คือความก้าวหน้าของวัคซีนและทางเลือกการรักษาใหม่ๆ จะช่วยให้เราเข้าสู่สภาวะแพร่ระบาดของไวรัสที่เราควบคุมได้และไม่แพร่กระจายจนเกินการควบคุม

ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ดร.  มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ (Maria Van Kerkhove) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ แผนกระบาดวิทยา การเตรียมความพร้อมและการป้องกันการแพร่ระบาดของ WHO ได้กล่าวว่าการเข้าสู่ปีที่ห้าของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่หลายคนอยากจะเพิกเฉย แม้ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างถาวรก็ตาม แม้ว่าข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 จะไม่ได้ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และออนไลน์ทุกวันเหมือนในอดีต แต่มันยังคงเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่ทั่วทั้งโลกต้องให้ความสำคัญ

หลักฐานชี้ชัดจากการตรวจวัด “ปริมาณของไวรัสโควิด-19 ในน้ำเสีย ที่พบว่ามีไวรัส SARS-CoV-2 ในระดับที่สูงกว่าข้อมูลที่รายงานโดยภาครัฐในหลายประเทศถึง 2 – 20 เท่า” บ่งบอกถึงการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังคงดำเนินอยู่ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการคงความตื่นตัวและเชิงรุกในการจัดการกับความเสี่ยงด้านสุขภาพทั่วโลกที่เกิดจากโรคโควิด-19 แม้ว่าความสนใจของสาธารณชนและรัฐบาลจะลดน้อยลงก็ตาม

เราไม่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้แม้การระบาดจะผ่านมาแล้วเกือบ 5 ปี การตรวจติดตามด้านจีโนมของโควิด-19  (Genomic surveillance of SARS-CoV-2 ) ทั้งจากผู้ป่วยและจากน้ำเสียในเขตชุมชนรวมถึงงานวิจัยในด้านต่างๆยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่ต้องดำเนินต่อไปเพื่อตอบคำถามต่างๆอีกมากมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo