กลยุทธ์ใหม่โควิด “กลายพันธุ์พลิกขั้ว” กำเนิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด “GK และ HK” คาดแทนที่ XBB และ EG.5.1 ในอนาคตอันใกล้
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุ กลยุทธ์ล่าสุดของโอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ GK และ HK เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันและจับยึดกับผิวเซลล์ได้แน่นขึ้น เหนือกว่า XBB รวมทั้ง เอริส “EG.5.1” ด้วยการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว(Flip combo mutation)
นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าโควิดมีกลยุทธ์ใหม่ (New trick) เป็นวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติได้ ยึดจับกับผิวเซลล์ได้ดีขึ้น เรียกว่า “Flip หรือ พลิก” กล่าวคือมีการกลายพันธุ์สองตำแหน่งติดกัน (double mutation) แบบพลิกขั้ว คือ L455F และ F456L ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกรดอะมิโน “ฟีนิลอะลานีน (F)” และ “ลิวซีน (L)”
GK และ HK.3 จากกลยุทธ์กลายพันธุ์พลิกขั้ว
โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์แรกจะพลิกขั้วจาก L เป็น F และตำแหน่งถัดมาพลิกขั้วจาก F เป็น L เมื่อรวมการเปลี่ยนแปลงทั้งสองเข้าด้วยกัน จะทำให้ส่วนหนามของไวรัสหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจับกับผิวเซลล์ (ACE2) ได้แน่นขึ้น ทำให้ไวรัสแทรกเข้าสู่เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า การกลายพันธุ์ พลิกขั้ว(Flip combo mutation) ทำให้เกิด XBB สองสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น
- GK หรือ XBB.1.5.70 มีต้นตระกูลมาจาก XBB.1.15 เกิดกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L และ
- HK.3 หรือ XBB.1.9.2.5.1.1.3 มีต้นตระกูลมาจาก EG.5.1 มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกันคือ L455F และ F456L
พบโอไมครอนที่มีการกลายพันธุ์พลิกขั้ว(Flip combo mutation) มากใน “บราซิล” พบ “สเปน” ยังไม่พบ ในประเทศไทย คาดว่าทั้งสองสายพันธุ์จะระบาดมาแทนที่ XBB สายพันธุ์เดิมรวมทั้ง EG.5.1 ในอนาคตอันใกล้
ควรใช้วัคซีนสายพันธุ์เดียว
จากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯได้กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ว่าการฉีดวัคซีนในปลายปี 2566- ต้นปี 2567 ควรใช้วัคซีนสายพันธุ์เดียวหรือ “โมโนวาเลนต์” ที่มุ่งเป้าไปที่โอไมครอน XBB สายพันธุ์ย่อย XBB.1.5, XBB.1.16 หรือ XBB.2.3 สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเท่านั้น
เพื่อให้ทันต่อการกลายพันธุ์ไปข้างหน้าของโควิด-19 โดยไม่ต้องผนวกสายพันธุ์ดั้งเดิมเข้าไปในวัคซีน เพราะไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าโอไมครอน XBB จะกลับมาระบาดซ้ำอีก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เกาหลีใต้อ่วม! ช่วง 28 วัน ติดโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้น 243% เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 91%
- ศูนย์จีโนมฯ เฉลย ‘โอไมครอน EG.5.1’ จะมาแทนที่ ‘XBB.1.16’ ในไทยได้หรือไม่?
- ระวัง! ‘โรคกิลแลง-บาร์เร’ ก่ออาการอัมพาต จากติดเชื้อ ‘ไวรัสโควิด-ไวรัสซิกา’