COVID-19

ระวัง! ‘โรคกิลแลง-บาร์เร’ ก่ออาการอัมพาต จากติดเชื้อ ‘ไวรัสโควิด-ไวรัสซิกา’

ระวัง! “โรคกิลแลง-บาร์เร” ก่ออาการอัมพาต จากติดเชื้อ “ไวรัสโควิด-ไวรัสซิกา” หลังประเทศเปรู ประกาศภาวะฉุกเฉิน 90 วัน

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เตือนให้ระวังโรคกิลแลง-บาร์เร โดยระบุว่า ควรระวัง! ประเทศเปรูได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเนื่องจาก เกิดกลุ่มอาการโรคกิลแลง-บาร์เร ที่ก่อให้เกิดอาการอัมพาตได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างฉับพลัน อันอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสซิกา, ไวรัสโควิด-19, หรือ แบคทีเรียแคมปิโลแบคเตอร์

ขณะนี้ประเทศเปรูได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับชาติเป็นเวลา 90 วัน เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome: GBS) เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 165 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 รายที่เชื่อมโยงกับโรค GBS

โรคกิลแลง-บาร์เร

GBS มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ ไวรัสโควิดไวรัสซิกา

GBS เป็นภาวะทางระบบประสาทที่พบได้ยาก เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีเส้นประสาทของตัวเองอย่างผิดพลาด สัญญาณเริ่มต้นมักจะเป็นความรู้สึกเสียวซ่าและอ่อนแรงที่มือและเท้า อาการเหล่านี้สามารถลุกลามอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น เคลื่อนไหวใบหน้าลำบาก ปวดรุนแรง ปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมกระเพาะปัสสาวะและการทำงานของลำไส้ และในกรณีที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต บางส่วน หรือทั่วตัว บางรายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึงจะมีชีวิตรอด

ก่อนเริ่มมีอาการของ GBS ประมาณสองในสามของผู้ป่วยได้มีรายงานว่า มีอาการของการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสซิกา, ไวรัสโควิด-19, การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น แคมปิโลแบคเตอร์ (campylobacter) ในทางเดินอาหารในหกสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเกิดอาการ GBS

GBS มีสามรูปแบบ ได้แก่ acute inflammatory demyelinating polyradiculoneuropathy (AIDP), Miller Fisher syndrome และ acute motor axonal neuropathy โดยที่ AIDP เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดในอเมริกาเหนือและยุโรป

ที่น่าสนใจ คือ การวิจัยแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง GBS กับการติดเชื้อต่างๆ เช่น ไวรัสซิกา และในบางกรณีก็รวมถึงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าการติดเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิด GBS โดยตรง แต่อาจเกิดจากการกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันซึ่งส่งผลให้เกิด GBS ในบางคน

ในขณะที่ต่อสู้กับการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันอาจเริ่มโจมตีเส้นประสาทของร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้เกิด GBS ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าการคล้ายคลึงด้านโครงสร้างโมเลกุล (molecular mimicry) เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดความสับสน ระหว่างรูปร่างของเซลล์ร่างกายและเชื้อโรคที่บุกรุก เนื่องจากความคล้ายคลึงกันของโครงสร้างของจุลชีพและเซลล์ของร่างกายในระดับโมเลกุล

โรคกิลแลง-บาร์เร

ติดเชื้อส่วนใหญ่ ไม่พัฒนาเป็น GBS ทุกคน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องย้ำว่าบุคคลส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ เช่น ไวรัสซิกาหรือโควิด-19 ไม่พัฒนาเป็น GBS ทุกคน  โดย GBS เกิดยากและเกิดขึ้นกับเฉพาะบางคน โดยปัจจัยเสี่ยงสำหรับการพัฒนาไปเป็น GBS หลังการติดเชื้อ ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ แต่ใครก็ตามที่มีอาการอ่อนแรงหรือรู้สึกเสียวซ่าที่แขนขาควรไปพบแพทย์ทันที

การเกิดโรค GBS เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำลาย myelin sheaths ที่ล้อมรอบเส้นประสาทส่วนปลาย เมื่อเปลือกหุ้มเหล่านี้เสียหาย เส้นประสาทจะไม่สามารถสื่อสารกับสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเสียหายนี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับมอเตอร์ ปัญหาทางประสาทสัมผัส หรือทั้งสองอย่าง

แม้จะยังเป็นความลึกลับเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิด GBS แต่อาการสามารถทุเลาหรือหายได้ หากคนไข้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

โรคกิลแลง-บาร์เร

รักษาด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนพลาสมา

การรักษาอย่างหนึ่งคือพลาสมาฟีเรซิส (plasmapheresis) หรือที่เรียกว่าการแลกเปลี่ยนพลาสมา กระบวนการนี้คล้ายกับการล้างไต โดยเลือดของผู้ป่วยจะถูกดึงออกมา  พลาสมาที่เป็นอันตรายจะถูกแทนที่ด้วยพลาสมาของคนปรกติ จากนั้นเลือดจะถูกนำกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย แม้จะเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างเจ็บปวดและใช้เวลานาน แต่พบว่าผู้ป่วยจำนวนมากมีการฟื้นตัวจากการรักษาด้วยพลาสมาฟีเรซิส

เป็นที่น่าสังเกตว่า GBS ไม่ได้ก่อความเสียหายในระยะยาว แม้ว่าการรักษาเช่นพลาสมาฟีเรซิสจะไม่ได้รักษาผู้ป่วยที่มี GBS  แต่ก็ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของโรค การซ่อมสร้างไมอีลินเนชันของเส้นประสาทส่วนปลายตัวทีเสียกาย ผู้ป่วยเป็นผู้ซ่อมแซมสร้างขึ้นมาใหม่เอง

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยฟื้นตัวเต็มจากอาการ GBS ได้เอง มีเพียง 5% เท่านั้นที่กลับเป็นซ้ำ สำหรับคนส่วนใหญ่ ผลกระทบระยะยาวของโรคนี้มักจะไม่รุนแรง และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามปกติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo