Environmental Sustainability

‘วราวุธ’ ชูนโยบาย ‘ทส. 2+4’ ยกระดับ-เพิ่มศักยภาพการทำงาน มุ่งเป้า ‘พัฒนายั่งยืน-ปชช.มีสิ่งแวดล้อมดี’

“วราวุธ” ชูนโยบาย “ทส. 2+4”  สานพลังขับเคลื่อน “เครือข่ายอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติ” ยกระดับคุณภาพการทำงานเพิ่มเป็น 2 เท่า และเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติอีก 4 ด้าน นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน และประชาชนมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ยืนยัน สนับสนุนการทำงานของทุกเครือข่าย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่าง ทส. ก้บประชาชนในทุกพื้นที่ 

วันนี้ (27 ก.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบนโยบายการส่งเสริม และสนับสนุน เครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. มอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริม และสนับสนุนเครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Microsoft team และถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีเครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังกว่า 100,000 คน

นอกจากนี้ ยังมีนายอนุชา สะสมทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ทส. นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ทส. และนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรี ทส. ร่วมรับฟัง

S 69656584

นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ ทส. มีเครือข่ายอาสาสมัครด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 677,150 คน ประกอบด้วย

  • เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จำนวน 259,262 คน
  • เครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) และเครือข่ายป่าชุมชน จำนวน 196,523 คน
  • เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.อส.) และเครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 122,000 คน
  • เครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย จำนวน 40,000 คน
  • เครือข่ายผู้ใช้น้ำ จำนวน 38,019 คน
  • เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 21,346 คน

เครือข่ายเหล่านี้ ถือเป็นกลไกเชิงพื้นที่ ที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการอนุรักษ์ เฝ้าระวัง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม สะท้อนปัญหาในท้องถิ่น ตั้งแต่ผืนป่า จนถึงท้องทะเล เครือข่ายอาสาสมัครด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็น หุ้นส่วนความร่วมมือภาคประชาชนระหว่าง ทส. กับประชาชนในทุกพื้นที่ และได้เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“วันนี้ประเทศไทย และโลกของเราอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ทุกอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยน สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถอยู่อย่างยั่งยืนจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน”

240586523 4764323823598687 7418314788553763931 n

ดังนั้น แนวทางการทำงานต่อไปของ ทส. จะอยู่ภายใต้นโยบาย “ทส. หนึ่งเดียว” และนโยบาย “ทส. 2+4”  ซึ่ง  “ทส.2” หมายถึง การยกระดับคุณภาพการทำงานเป็น 2 เท่า และ “+4” หมายถึง การเพิ่มศักยภาพของการปฏิบัติงาน

บวกที่ 1 คือ การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน

บวกที่ 2 คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีการรับรู้ ตระหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของ ทส.

บวกที่ 3 คือ การแสวงหาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ในการเพิ่มศักยภาพการทำงานอยู่เสมอ

บวกที่ 4 คือ มีหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน โดยยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า ที่เป็นการยกระดับคุณภาพการทำงานเป็น 2 เท่า และการเพิ่มศักยภาพของการปฏิบัติงาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และประชาชนมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี

นายวราวุธ ระบุว่า ทส. พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเครื่องมือ กฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่ได้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้พี่น้องในพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ดียิ่งขึ้น เช่น พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2562 ที่เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกไม้มีค่า เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนมากขึ้น

S 301957161

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณ จากกองทุนสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้เครือข่ายได้พัฒนาการทำงานในพื้นที่ ให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการจัดการไฟป่า และลดหมอกควัน โครงการส่งเสริม โคก หนอง นา โมเดล และการทำเกษตรกรรมยั่งยืน และโครงการอื่น ๆ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านมลพิษ

ในด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่กระทรวง พร้อมสนับสนุนการทำงาน และร่วมทำงานกับพี่น้องเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

สิ่งสำคัญอีกประการ ที่ต้องการให้เครือข่ายในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเป็นพลังสำคัญดำเนินการ คือ การส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการปลูกต้นไม้วันละ 1 ต้น เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่าไม้ และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ  หลังปลูกแล้วขอให้ช่วยกันดูแลเพื่อให้เติบโตต่อไป ซึ่งการมีป่าไม้เพิ่มขึ้น จะช่วยแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ไม่ว่า อุทกภัย ภัยแล้ง และอื่น ๆ ได้

“สำหรับปัญหาการเกิดอุทกภัยจากพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในขณะนี้ ได้มอบนโยบายให้กับทุกหน่วยงานในสังกัด ให้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกพื้นที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องขอฝากให้เครือข่ายอาสาสมัครด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยประสานในด้านข้อมูลความเดือดร้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงสิ่งจำเป็นที่ต้องการได้รับการสนับสนุน เพื่อทางกระทรวง จะได้เร่งจัดหาให้ เช่น เครื่องใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม รวมถึงยานพานะเช่นเรือ หรือ กำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในการขนของ หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คนชรา และอื่น ๆ”

ggg
จตุพร บุรุษพัฒน์

ขณะที่ นายจตุพร ปลัด ทส. กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายอาสาสมัครด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในพลังสำคัญ ที่ทำงานร่วมกับส่วนราชการ ในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายนโยบายของของนายวราวุธ  รัฐมนตรี ทส. และรัฐบาล โดยเน้นหลักการทำงานอย่าง HAPPY หรือมีความสุข อันเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวง  โดยพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย รวมถึงการรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการทำงาน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

ทางด้าน นายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานเครือข่าย ทสม. พระนครศรีอยุธยา แสดงความเห็นว่า นับเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารสูงสุดของ ทส. ได้พูดคุยกับเครือข่าย ทสม. และเครือข่ายอื่น ๆ ในสังกัด ที่มีคนฟังจำนวนมากเป็นหลักแสนคน รู้สึกดีใจ และเป็นขวัญกำลังใจ ให้เครือข่ายทุกเครือข่าย มีความมุ่งมั่นในการช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และขอให้สัญญาว่า พร้อมที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงตลอดไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo