COLUMNISTS

จับตาที่อยู่อาศัย 1.2 ล้าน ไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อราคาไม่สอดคล้องต้นทุน แม้บีโอไอเว้นภาษี

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA)

จับตาโครงการที่อยู่อาศัย 1.2 ล้านบาท แม้ได้บีโอไอสนับสนุนผู้พัฒนาโครงการ ยกเว้นภาษีนิติบุคคล แต่ราคาสวนทางต้นทุนพุ่ง วอนขยับราคาขายเป็น 1.5 ล้านบาท

ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลางที่พัฒนาภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ว่าต้องมีราคาขายไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร และในจังหวัดอื่น ๆ ในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อยูนิต

ที่อยู่อาศัย 1.2 ล้าน

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ขอการส่งเสริมการลงทุนแล้ว สามารถทำตามเงื่อนไขต่าง ๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขของราคาขายได้ ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลของนิติบุคคลที่มีชื่อเป็นผู้พัฒนาโครงการนั้นเป็นเวลา 3 ปี

การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้นโยบายของ BOI นี้เป็น 1 ในช่องทางที่ผู้ประกอบการหลายรายเลือกใช้และเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายรายที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน เช่น รีเจนท์ กรีน เพาเวอร์, เสนา ดีเวลลอปเม้นท์, พฤกษาฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ราคาที่อยู่อาศัย 1.2 ล้านบาทต่อยูนิต ที่ทาง BOI กำหนดไว้ เป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ผู้ประกอบบางส่วน เริ่มขอรับการส่งเสริมการลงทุนลดลง เพราะต้นทุนในการพัฒนาโครงการไม่ว่าจะเป็นที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ค่าแรง และปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไปค่อนข้างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขายในราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อยูนิตในปัจจุบันอาจจะทำได้ยากแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และบางจังหวัดปริมณฑล เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี

บ้านบีโอไอ

ในขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มมีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการให้ทาง BOI ปรับราคาขายของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก 1.2 ล้านบาทเป็น 1.5 ล้านบาทต่อยูนิตทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในต่างจังหวัดอาจจะขึ้นมาที่ราคา 1.2 – 1.3 ล้านบาทต่อยูนิต

ผู้ประกอบการยังต้องการลดภาระในการขาย รวมไปถึงภาระจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เป็น 1 ในช่องทางที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการจะยกขบวนกันไปขอรับการส่งเสริมการลงทุนกันทุกราย

เพราะสุดท้ายแล้ว ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องพัฒนาโครงการออกมาหลายระดับราคาเพื่อรองรับกำลังซื้อหลายกลุ่ม แต่ที่อยู่อาศัยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็น 1 ในช่องทางการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง ซึ่งในช่วงเวลานี้อาจจะเป็นของแสลง หรือระดับราคาที่ผู้ประกอบการเลือกที่จะลดสัดส่วนของโครงการลง เพราะปัญหาในเรื่องของการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย

คุณสุรเชษฐ์ กองชีพ 3 0
สุรเชษฐ กองชีพ

หากทาง BOI มีการปรับราคาขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาทต่อยูนิต ก็เป็นไปได้ที่จะมีโครงการในระดับราคานี้เปิดขายใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตปริมณฑล หรือกรุงเทพมหานครบางพื้นที่ แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์เพราะขอสินเชื่อธนาคารไม่ได้ แต่ด้วยขนาดของผู้ซื้อในระดับนี้มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นไปได้ที่จะมีผู้ซื้อคนใหม่เข้ามาทดแทนในเวลารวดเร็ว

อีกทั้งที่อยู่อาศัยในระดับราคานี้โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในทำเลดี ๆ มีกลุ่มของนักลงทุนเข้ามาซื้อไม่น้อย เพราะต้นทุนไม่สูงมาก โอกาสในการทำกำไรยังพอมี และฐานของกลุ่มลุกค้าทั้งเช่า และซื้อมีอยู่เยอะ หลายโครงการจึงปิดการขายหรือมีอัตราการขายที่สูงมาก

สุดท้ายแล้ว รัฐบาลและ BOI จะปรับราคาขายเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ตาม ที่อยู่อาศัยระดับราคานี้ลดน้อยลงไปทุกทีในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพราะต้นทุนต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป

บทความโดย สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่