COLUMNISTS

เปิด 5 มาตรการภาษี 2 มาตรการทางการเงิน กระตุ้นการซื้อที่อยู่อาศัย

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA)

ช่วงที่ผ่านมากำลังซื้อคนไทยมีปัญหาหนัก ทั้งเรื่องของการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะยาวจนไม่อยากสร้างภาระระยะยาวจากการซื้อที่อยู่อาศัย

การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการออกมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศออกมาเป็นรูปธรรม แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศมาตรการออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อคนไทยซึ่งลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากปัจจัยลบต่อเนื่องจากช่วงโควิด

ซื้อที่อยู่อาศัย

ประเด็นที่เป็นปัญหาและมีการพูดถึงกันมากที่สุด คือ การเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยของธนาคารต่าง ๆ ซึ่งมีผลให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงในตลาดที่อยู่อาศัย รวมไปถึงเรื่องของดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้รัฐบาลอาจจะเข้าไปแก้ไขลำบาก ไม่สามารถออกมาตรการหรือนโยบายออกมาได้โดยตรง เนื่องจากเป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรการหรือนโยบายที่สามารถออกจากรัฐบาลได้โดยตรง คือ มาตรการหรือนโยบายที่บังคับใช้ผ่านกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ซึ่งมีแนวทางออกมาเป็น 5 มาตรการด้านภาษี และ 2 มาตรการทางการเงิน ซึ่งยังไม่ได้ประกาศใช้ เพียงแต่เป็น 7 มาตรการที่รัฐบาลจะนำไปพิจารณารวมไปถึงขอความเห็นชอบต่อไป

มาตรการที่มีการพูดถึง คือ 5 มาตรการทางด้านภาษี และ 2 มาตรการทางการเงิน ซึ่งเกิดจากการที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ในงานอสังหาริมทรัพย์ดัชนีชี้เศรษฐกิจปี 2024

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่า อสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ในเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับอีกหลายธุรกิจ รวมไปถึงยังกระทบกับรายได้โดยตรงของคนจำนวนมากที่อยู่ในธุรกิจนี้ หรือเกี่ยวข้องกับกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น การขับเคลื่อนให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขัเคลื่อนไปได้แบบมั่นคงในระยะยาวเป็น 1 ในหนทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปในทางที่ดีขึ้น โดย 7 มาตรการที่นายภาคภูมิกล่าวถึง คือ

shutterstock 2305314975 1

มาตรการด้านภาษี (5 มาตรการ)

1. การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1 แสนบาท

2. การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ของภาษีฯ ที่ต้องเสียให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ไม่เกิน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการระหว่างการก่อสร้าง

3. การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับทรัพย์ส่วนกลาง ที่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

4. การขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปี 2567 เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน

5. การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนจาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ที่จดทะเบียนในปี 2567 และต้องเป็นธุรกรรมที่เกิดพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง

shutterstock 1270775542

มาตรการทางการเงิน (2 มาตรการ)

6. โครงการบ้านล้านหลังเพื่อสนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดย ธอส. สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยมีวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี

7. โครงการสินเชื่อ Happy Life สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง วงเงินกู้ต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 2.98% ต่อปี ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในปีแรกที่ 1.95% ต่อปี

โดยทั้ง 7 มาตรการนั้น ครอบคลุมทั้งเรื่องของกำลังซื้อคนไทย ที่จะได้ลดหย่อนค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองรวมไปถึงภาษีส่วนบุคคล อีกทั้งเป็นมาตรการที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในฝั่งของผู้ประกอบการด้วย

มาตรการต่าง ๆ นั้น เป็นมาตรการที่เคยมีการประกาศใช้มาแล้วในบางรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่จากแนวทางที่มีการพูดถึงนั้น อาจจะยังไม่ครอบคลุมตลาดที่อยู่อาศัยมาก เพราะยังมีการกำหนดเพดานราคาที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต

แม้ว่ากลุ่มระดับราคานี้จะมีอยู่มากที่สุดในตลาดที่อยู่อาศัย แต่ก็เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีปัญหาในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากที่สุด หากที่อยู่อาศัยในระดับราคานี้ ได้รับการกระตุ้นในฝั่งของกำลังซื้อซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด ก็เป็นไปได้ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะขับเคลื่อนต่อไปได้

แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงิน ในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นประตูสุดท้ายก่อนการโอนกรรมสิทธิ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่