COLUMNISTS

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 4 กุญแจความสำเร็จของเกาหลีใต้

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

​กุญแจแห่งความสำเร็จของเกาหลีใต้ เห็นได้จากการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชากรมีรายได้สูง มีความเพียบพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มสูง

เกาหลีใต้ มีเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและมีมาตรฐานเทียบชั้นผู้นำของโลก มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ก่อให้เกิดความก้าวหน้าของสินค้าเทคโนโลยีในตลาดโลก ทำให้แบรนด์สินค้าเกาหลีใต้ได้รับความไว้วางใจจากผู้คนทั่วโลก

ความสำเร็จของเกาหลีใต้

ในปัจจุบันเกาหลีใด้ยังได้นำเอาวัฒนธรรมประจำชาติ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสร้างวัฒนธรรมนั้น ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกได้อย่างโดดเด่น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเห็นความสำเร็จของเกาหลีใต้ดังเช่นปัจจุบัน เกาหลีใต้เคยประสบปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อันเนื่องมาจากโครงสร้างการผลิตที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer) หรือ OEM มาก่อน โดยในช่วงแรกภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ของผลิตภัณฑ์ต่ำ มีการพึ่งพาวัตถุดิบ วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป และเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศมากเกินไป

รวมไปถึงการมีสัดส่วนของสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่ง เนื่องจากในช่วงแรกเกาหลีใต้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในลักษณะที่เป็นกลุ่มธุรกิจหลายประเภท ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน (Conglomerate) ทำให้มีความด้อยประสิทธิภาพในการผลิต เพราะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติเป็นหลัก จึงขาดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นแบบฉบับของตนเอง

รัฐบาลเกาหลีใต้ จึงได้ปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่ Technological-Knowledge Based Economy ซึ่งความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลสำคัญต่อความสำเร็จของเกาหลีใต้ ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีต่ำก่อน จับตลาดสินค้าราคาไม่แพงมากนัก โดยพยายามยึดเอาเทคโนโลยีของผู้นำตลาดเป็นต้นแบบเพื่อไล่กวด แล้วจึงค่อย ๆ พัฒนาคุณภาพไปเป็นลำดับ

จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการปรับคุณภาพ และมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้เพิ่มสูงขึ้น กระทั่งสามารถก้าวไปสู่การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบ กลายเป็นผู้นำสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ

ในช่วงแรกโรงงานอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะโรงงานประกอบสินค้าสำเร็จรูป (Assembly Plants) โดยเป็นการจ้างให้บริษัทต่างประเทศออกแบบให้ หรือซื้อเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรทั้งหมดจากต่างประเทศ

shutterstock 2307947343

ต่อมาเริ่มมีการพัฒนาการออกแบบและเทคโนโลยีเป็นของตัวเองในบางส่วน และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการพัฒนาการผลิตด้วยการออกแบบเองทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตที่ลอกแบบหรือจัดซื้อมาจากต่างประเทศ

ขณะที่รัฐบาลมีการส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยี ด้วยการฝึกอบรมคนในประเทศให้เรียนรู้เทคโนโลยี การส่งวิศวกรและผู้จัดการไปฝึกอบรมในต่างประเทศ การว่างจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา รวมไปถึงการที่รัฐบาลมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อเทคโนโลยีหรือทำการผลิตภายใต้สัญญา (Licensing) เป็นต้น

จะเห็นว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จับจุดถูกด้วยการให้ความสำคัญอย่างมาก ในการกำหนดให้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องบรรลุผลสำเร็จ ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศเกิดความร่วมแรงร่วมใจและเอาจริงเอาจังในการทุ่มเทเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลของเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากในปี 2533 ที่งบประมาณการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามีมูลค่าเพียง 1.44 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.87% ของ GDP

ต่อมาในปี 2543 งบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 4.26 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.39% ของ GDP และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องกระทั่งในปี 2565 งบประมาณดังกล่าวสูงถึง 2.99 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5.21% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอิสราเอลเท่านั้น

ภาคเอกชน กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยมีสัดส่วนงบประมาณเมื่อเทียบกับภาครัฐเพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2523 กลายเป็น 75% ในปี 2543 และเติบโตสูงถึง 80% ในปี 2565

shutterstock 757373476

เห็นได้จากกรณีของบริษัท Samsung Electronics ที่มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 6.8% ของรายได้ในปี 2560 และยังได้เพิ่มการลงทุนด้าน R&D อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตเป็น 8.1% ในปี 2565 โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 90% มุ่งเน้นไปยังเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก

กล่าวได้ว่า การวิจัยและพัฒนาเป็นสารตั้งต้นที่จะพัฒนาไปสู่ทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกว่า สิทธิบัตร และนำไปสู่ทรัพย์สินที่จับต้องได้ เช่น สินค้า และเทคโนโลยีใหม่ ๆ

จากข้อมูลพบว่ากระทั่งถึงปี 2565 บริษัท Samsung เป็นเจ้าของสิทธิบัตรทั่วโลก ทั้งที่รอการอนุมัติและอนุมัติแล้ว จำนวนสูงถึง 352,342 ฉบับ โดยมีสิทธิบัตรที่มีการอนุมัติแล้วเฉพาะในปี 2565 เพียงปีเดียว มีจำนวน 6,248 ฉบับ สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก เอาชนะได้ทั้ง IBM, Apple, Intel, Google

นอกจากนี้ Global Innovation Index (GII) ที่ได้จัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของทุกประเทศ พบว่าปี 2566 ประเทศเกาหลีใต้อยู่ในอันดับ 10 แซงหน้าคู่แข่งสำคัญทั้งจีนและญี่ปุ่น

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีบริษัทจากเกาหลีใต้เข้าร่วมงาน CES 2023 ซึ่งเป็นงานมหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูงถึงจำนวน 550 บริษัท จาก 3,200 บริษัททั่วโลกที่เข้าร่วมงาน

อาจกล่าวได้ว่าในอนาคตโลกทั้งใบจะต้องรู้จักเกาหลีใต้ในฉายาใหม่ว่าเป็น ดินแดนนวัตกรรม 

บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่