COLUMNISTS

ประเทศไทยต้อง ‘เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส’ เดินหน้าสร้างแบรนด์ ตอน 2

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

ถึงเวลาประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส จากภาคอุตสาหกรรมที่เน้นรับจ้างผลิต ใช้แรงงานจำนวนมาก ไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ต่อยอดถึงการสร้างแบรนด์

ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการรับจ้างผลิตแบบ Original Equipment Manufacturer (OEM) ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เข้มข้นแบบ Original Design Manufacturer (ODM) รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการใช้การตลาด การจัดจำหน่าย และการสร้างแบรนด์ที่เข้มข้นแบบ Original Brand Manufacturer (OBM) ได้อย่างไร

สร้างแบรนด์

ในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมของไทย ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ให้กับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยเฉพาะต้นทุนด้านแรงงาน อาทิ เวียดนามและอินโดนีเซีย

รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความนิยมของผู้บริโภคในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างจากที่ไทยเคยผลิตได้ อาทิ การที่ผู้บริโภคหันมาใช้ Tablet และ Smartphone แทนการใช้ Personal Computers (PCs) มากขึ้น หรือสินค้าส่งออกหลักของไทยคือฮาร์ดดิสก์ (HDD) ซึ่งมีความต้องการในตลาดโลกลดลง เนื่องจากถูกทดแทนด้วย Solid-state drive หรือ SSD ที่มีความเร็วมากกว่า เป็นต้น

กอปรกับข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยและเงินลงทุนที่มีจำกัด เป็นผลให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้วิธีการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ ให้มาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศ เพื่อเป็นทางลัดที่จะปลดล็อกข้อจำกัดทั้งด้านเงินทุน และทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทในประเทศ

shutterstock 2248569299

อย่างไรก็ดี การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ที่สภาพแวดล้อมด้านการลงทุนระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นมากขึ้น เนื่องจากมีประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economy) ซึ่งมีข้อได้เปรียบต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น อัตราภาษีที่ค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนที่ดึงดูดมากกว่า

นอกจากนี้ คู่แข่งที่สำคัญของไทยในภูมิภาคอย่าง เวียดนามและอินโดนีเซีย ไม่ได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในด้านการผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในการผลิต เพื่อรองรับกำลังซื้อภายในประเทศเองที่เพิ่มสูงขึ้นจากประชากรราว 97 ล้านคน และ 270 ล้านคน ตามลำดับ

ในส่วนของความสามารถด้านแรงงานนั้น แม้ว่าความสามารถทางการแข่งขันในด้านแรงงานของเวียดนามและอินโดนีเซียยังต่ำกว่าไทย แต่ช่องว่างระหว่างประเทศเริ่มลดลงมาเรื่อย ๆ จากการมีจำนวนประชากรที่มีอายุน้อย และมีกำลังแรงงานขนาดใหญ่

ธนกร สังขรัตน์
ธนกร สังขรัตน์

อีกทั้งการลดลงของกำลังแรงงานของไทย ซึ่งเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วขึ้น จะเป็นความท้าทายสำหรับไทย จากปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต

อุปสรรคสำคัญที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนในส่วนนี้ ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้และทักษะที่ตรงกับความต้องการของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะการขาดแคลนวิศวกรที่จบการศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้บริษัทที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ท่าให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจ้างผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นถึงประมาณ 5-10 เท่า

ปัจจัยต่อไปคือ อุตสาหกรรมสนับสนุนในไทย ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อป้อนให้กับสายการผลิตสินค้าขั้นสูงได้ บริษัทข้ามชาติที่จะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย จึงต้องนำเข้าชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตในสัดส่วนสูง ทำให้การบริหารจัดการต้นทุนทำได้ยาก เนื่องจากต้นทุนมีความอ่อนไหวสูงต่ออัตราแลกเปลี่ยน และยังมีต้นทุนการขนส่งที่ค่อนข้างสูง

โรงงาน

กล่าวได้ว่า ระบบนิเวศน์ (Eco-system) หรือสภาพแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังไม่รองรับการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม ยังไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)

แม้ว่าไทยมีโรงงานผลิตสินค้าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่มีความยืดหยุ่นต่ำค่อนข้างต่ำ กล่าวคือเราไม่สามารถประยุกต์หรือพัฒนาไปสู่รูปแบบการผลิตในลักษณะอื่น ๆ นอกจากเหนือไปจากโมเดลการผลิตแบบเดิม ๆ แค่แบบเดียว ไซส์เดียว ตามที่เคยทำมา เพราะโรงงานมาตรฐานส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะ OEM ที่เน้นเรื่องต้นทุนมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ทุกอย่างถูกกำหนดสเป็คมาแล้ว จากคำสั่งซื้อของผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ

แม้แต่การจะหาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ หรือชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่ ๆ ในประเทศไทยก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งที่เรารับรู้กันมาตลอดว่า ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก

เรามีโรงงานผลิตอยู่ไม่น้อย และเราก็มีนักออกแบบอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงแต่สองภาคส่วนนี้ยังไม่เคยมาบรรจบกันจริง ๆ ในโลกอุตสาหกรรมการผลิตของไทย

บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่