COLUMNISTS

ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ตอน 3 ถอดบทเรียนจากเกาหลีใต้

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

เกาหลีใต้ ประเทศที่หากย้อนกลับไปในอดีต 70-80 ปีที่ผ่านมา เคยถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนติดอันดับโลก เนื่องจากต้องเผชิญกับสถานการณ์สงครามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การถูกยึดครองจากญี่ปุ่นในช่วงระหว่างปี 2453-2488

ต่อมาเมื่อได้รับเอกราชจากญี่ปุ่นในปี 2488 เศรษฐกิจของประเทศก็มีความบอบช้ำอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงระหว่างปี 2488-2493 และต่อด้วยการเผชิญกับวิกฤติการณ์สงครามคาบสมุทรเกาหลี ในช่วงระหว่างปี 2493-2496 ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมของประเทศได้ถูกทำลายลงเกือบหมดในสมัยสงครามเกาหลีที่ยืดเยื้อ

เกาหลีใต้

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาในแง่ปัจจัยพื้นฐานของประเทศแล้ว เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่ขาดแคลนทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ดังนั้นภายหลังสงครามเกาหลีได้ก่อให้เกิดภาวะความอดอยาก ยากจนข้นแค้น และการว่างงานของประชากรเป็นจำนวนมาก

แต่อะไรได้ทำให้ประเทศนี้สามารถพลิกฟื้นจากประเทศที่เกือบล่มสลาย สิ้นเนื้อประดาตัว จากที่เคยมีรายได้ประชากรต่อหัว (GNI Per Capita) อยู่ที่ 67 ดอลลาร์ ในปี 2496 สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จก้าวไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูง โดยมีรายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มสูงเป็น 3.29 หมื่นดอลลาร์ในปี 2565

ปัจจุบันเกาหลีใต้ซึ่งมีประชากรราว 51.78 ล้านคน กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก มีมูลค่า GDP เกือบ 60 ล้านล้านบาท โดยขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีประชากร 67 ล้านคน ถึง 3 เท่า

ในปี 2566 ที่ผ่านมา Federation of Korean Industries (FKI) ถึงกับได้นำเสนอนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศชั้นนำของโลก เทียบเท่ากลุ่ม G7 ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส แคนาดา และอิตาลี

shutterstock 2369010073

นอกจากนี้จากรายงานของ McKinsey & Company คาดการณ์ว่า ประเทศนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และมีรายได้ประชากรต่อหัวสูงถึง 7 หมื่นดอลลาร์ ภายในปี 2583

ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศมีจุดเริ่มต้นจาก ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน (Miracle of the Han River) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างก้าวกระโดด ในช่วงหลังสงครามเกาหลีหรือช่วงระหว่างปี 2496-2539

โดยรัฐบาลได้เริ่มต้นวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการจัดทำ แผนการพัฒนา 5 ปี มีการใช้นโยบายมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการส่งออก แทนนโยบายอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ และไม่เน้นการพัฒนาเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเบา หรืออุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก (labour-intensive)

ต่อมาเมื่อเกิดการสูญเสียความได้เปรียบจากการแข่งขัน อีกทั้งอุตสาหกรรมเบาเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) ต่ำ มีการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปค่อนข้างมาก รัฐบาลจึงได้มีการเปลี่ยนเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อุตสาหกรรมหนัก (heavy Industries) และเคมีภัณฑ์ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า เครื่องจักรกล โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก อุตสาหกรรมการต่อเรือ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ธนกร สังขรัตน์
ธนกร สังขรัตน์

ปรับนโยบายพัฒนาประเทศพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

หลังจากนั้น รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ระเบียบใหม่ของการค้าโลก โดยมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูงเทียบเท่าบรรษัทข้ามชาติอื่น ๆ อาทิ รถยนต์ เครื่องจักรกล เรือเดินสมุทร เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor)

เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ได้รับการยอมรับว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมชั้นนำประเทศหนึ่งของโลก โดยในแวดวงธุรกิจบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศหลายบริษัท มีความสามารถในการแข่งขันก้าวสู่การเป็นบรรษัทข้ามชาติระดับโลก ทัดเทียมบรรษัทข้ามชาติอี่น ๆ ในยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น และมีแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น global brands ที่สำคัญในหลาย ๆ อุตสาหกรรม อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องจักรกล เรือเดินสมุทร เป็นต้น

ปัจจุบัน เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการเป็นแบรนด์ที่ได้รับความไว้วางจากผู้คนทั่วโลก ว่ามีนวัตกรรมล้ำสมัย เทคโนโลยีก้าวหน้า และไอเดียสร้างสรรค์ที่ไม่สิ้นสุด โดยผู้คนทั่วโลกรู้จักสมาร์ทโฟน Samsung เครื่องใช้ฟ้า LG รถยนต์ Hyundai เครื่องสำอางเกาหลี แฟชั่น เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ภาพยนตร์ ดนตรี อาหาร ไปจนถึงธุรกิจแฟรนไชส์ ล้วนเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียและทั่วโลก

shutterstock 2295387573

ไม่เพียงเท่านั้น เกาหลีใต้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเข้าสู่ยุคการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ มุ่งเน้นผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ การทดลองพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicle) การให้บริการด้านการดูแลสุขภาพผ่านช่องทางดิจิทัล (telemedicine), หุ่นยนต์ เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม (value-added economy)

ในระยะยาวรัฐบาลจะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสถานะของเกาหลีใต้ให้เป็นผู้นำโลก เช่น ยุทธศาสตร์ Carbon Neutrality 2050, ยุทธศาสตร์ K-Battery, ยุทธศาสตร์ K-Semiconductor, ยุทธศาสตร์การยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของโลก (global vaccine hub) เป็นต้น

บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่