หลังจากได้เฝ้ามองพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทยในบริบทการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในภูมิภาคและในโลก ทั้งในฐานะนักวิชาการและนักธุรกิจเอกชน ผมคิดว่าพอจะจับจุดรากแก้วของปัญหาของเศรษฐกิจไทยได้อย่างเลา ๆ
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ เราได้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าตลอดระยะเวลาสักประมาณ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เราไม่มีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น เพียงแต่ว่าคู่แข่งทำได้ดีกว่าเราอย่างเห็นได้ชัด
โดยคู่แข่งรายเดิม ๆ ได้ทิ้งไทยออกไปอย่างไม่เห็นฝุ่น เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น ในขณะที่คู่แข่งรายใหม่เริ่มจี้ติดเข้ามาอย่างหายใจรดต้นคอกันเลยทีเดียว อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น
เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกเข้าไปถึงแก่นของปัญหาจะพบว่า อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมสำคัญของไทยยังอยู๋ในลักษณะ OEM หรือ Original Equipment Manufacturer นั่นคือ การเป็นเพียงประเทศผู้รับจ้างในการผลิตมาอย่างยาวนาน
ที่ผ่านมาเราอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นประเทศที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่าคู่แข่ง การมีจำนวนแรงงานในวัยหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก การพร้อมรับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยไม่มีแรงกดดันจากกฎระเบียบภาครัฐที่เข้มงวด การมีแรงจูงใจทางภาษีในแพคเกจส่งเสริมการลงทุนที่ดีกว่า การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า ฯลฯ
ปัจจัยความได้เปรียบต่าง ๆ เหล่านี้เคยทำให้ไทยเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลก ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล
แต่ทว่าความได้เปรียบต่าง ๆ เหล่านี้ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะคู่แข่งเขาก็มีเหมือนกัน และในบางรายเริ่มทำได้ดีกว่าไทยในเกือบทุกด้านแล้วเช่นกัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยไม่สามารถขยับตัวเองไปสู่ประเทศที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ของภาคอุตสาหกรรมมากกว่าการเป็นผู้รับจ้างผลิต นั่นก็เพราะเรามีทศวรรษที่สูญหายไปนับ 3 ทศวรรษด้วยกัน
3 ทศวรรษที่สูญหายของไทย
เพราะตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประสบวิกฤติลูกแล้วลูกเล่าอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากทศวรรษ 2540-2550 ไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เราก็ดันพร้อมใจกันพาตัวเองเข้าสู่วิกฤติความขัดแย้งด้านการเมือง เป็นสงครามสีเสื้อตั้งแต่ปี 2550-2560 ถัดมาในช่วงปี 2560 กระทั่งถึงปัจจุบัน เรายังเมาหมัดต่อกับวิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางสังคมที่ผู้คนเริ่ม
ตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียมกัน สังคมสวัสดิการ เป็นต้น ก่อให้เกิดการแบ่งฝีกแบ่งฝ่ายของคนในประเทศอย่างยากจะประสานเป็นเนื้อเดียวกัน
ทำให้ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษที่สูญหายดังกล่าว ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาถีบตัวเองจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การเป็นประเทศผู้ออกแบบและพัฒนา (ODM) ที่มาจากคำว่า Original Design Manufacturer
ในขณะที่อีกด้านของการพัฒนาคือ การก้าวไปเป็นประเทศผู้เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการ สามารถส่งออกแบรนด์สินค้าไปจำหน่ายทั่วโลก (OBM) หรือ Original Brand Manufacture ซึ่งทั้งสองรูปแบบการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจสูงกว่าการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตอย่างมหาศาล
การวนลูปอยู่ที่เดิมแบบนี้มาตลอด 3 ทศวรรษ ทำให้เราก้าวอยู่กับที่ ในขณะที่ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน อินเดีย พัฒนาต่อไปเป็นประเทศ ODM และ OBM ในสัดส่วนและความเข้มข้นที่แตกต่างกันไป แต่ก็ล้วนประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้แต่เวียดนามที่ในปัจจุบันเริ่มปรับโหมดเป็นผู้สร้างแบรนด์สินค้าผลิตป้อนตลาดโลก รวมไปถึงอินโดนีเซียที่ตั้งหลักสู้กับไทยด้วยปัจจัยความได้เปรียบในการรับจ้างผลิตแบบเดียวกับไทย แต่ทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าแทบจะทุกด้าน
ถึงเวลาแล้วครับที่ประเทศไทยจะต้องกลับมาตั้งหลักคิดให้ถูกต้องก่อน เพราะ Think Right เท่านั้น ถึงจะ Do Right ครับ
บทความโดย ธนกร สังขรัตน์ กรรมการผู้จัดการ Fabulous Pillar Co., Ltd. (Myanmar)
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หอการค้า’ ห่วงเศรษฐกิจไทยปี 66 โตต่ำเกินคาด ชี้ปี 67 โอกาสโตต่ำกว่า 3% เป็นไปได้สูง
- กรมการค้าต่างประเทศ จับมือสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ทำโรดแมปขับเคลื่อนการค้า-ส่งออก ปี 67
- ‘พาณิชย์’ แนะเพิ่มโอกาสส่งออกบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม เทรนด์แรงในจีน
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg