Media

อนุกรรมการฯ ลงมติค้าน 3:1 ดีลควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ – จับตามือดีชงรายงานบิดเบือนให้บอร์ดอนุมัติ

อนุกรรมการฯ ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” ลงความเห็นค้าน 3 : 1 ชี้การควบรวบกระทบตลาด หวั่นสำนักงานฯ ชงรายงานบิดเบือนให้บอร์ดกสทช.ไฟเขียวรวมกิจการ

หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติลงวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วยอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง อนุกรรมการด้านกฎหมาย อนุกรรมการด้านเทคโนโลยีและอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีกรอบเวลาให้หาข้อสรุปเพื่อทำรายงานเสนอมายังบอร์ด กสทช.เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการหรือไม่

ทรู-ดีแทค 4 คณะลงมติ 3:1 ไม่เห็นด้วยรวมธุรกิจ

ล่าสุดหลังจากที่อนุกรรมการได้ประชุมกันในชั้นของตัวเองเป็นเวลากว่า 2 เดือน ผลสรุปที่เสนอส่งเป็นรายงานให้แก่คณะทำงานประสานงานคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจของทรูและดีแทคที่มีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช. และรักษาการเลขาธิการกสทช.นั้น ผลปรากฎว่า อนุฯทั้ง 4 คณะลงมติ 3:1 ไม่เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจดังกล่าว

ทรู-ดีแทค

โดย 3 อนุกรรมการที่คัดค้านประกอบด้วย อนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี ส่วนอนุกรรมการ 1 เสียงที่เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจคือ อนุกรรมการด้านกฎหมาย

แหล่งข่าวจากอนุกรรมการ กล่าวว่า อนุฯ ทั้ง 4 ชุด ประชุมแยกกัน บางชุดเพิ่งประชุมเสร็จเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้ทำรายงานส่งไปแล้ว แต่ขณะนี้มีความกังวลว่า สำนักงาน กสทช.ที่เป็นผู้รวบรวมผลการศึกษาและข้อสรุปต่างๆของอนุฯ มีความพยายามแต่งถ้อยคำและบิดเบือนความเห็นของอนุฯ

โดยไฮไลท์ข้อดีของการควบรวมแล้วสรุปไปว่า อนุฯ มีความเห็นว่า ควรอนุญาตให้ควบรวม เป็นสิ่งที่ผิดจากเจตนารมร์ของ อนุฯ ทั้ง 4 ชุด แม้จะมีมติไม่เอกฉันท์ แต่ถือว่าเสียงส่วนใหญ่ก็คัดค้านการควบรวมครั้งนี้ อีกทั้งมีข้อสังเกต ว่าการอนุมัติดังกล่าว มีความพยายามรวบรัดทำให้จบในช่วงก่อนวันหยุดยาว เพื่อให้การร้องเรียนหรือร้องค้านไม่สามารถทำได้ทันที

ทั้งนี้ หลังจากที่อนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ได้ส่งรายงานให้แก่คณะทำงานฯ ชุดของนายไตรรัตน์แล้ว คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสทช.ภายในสัปดาห์หน้าราววันที่ 26-27 กรกฎาคม 2565 เป็นไปตามกรอบเวลาที่บอร์ดได้ให้สำนักงานกสทช. และคณะทำงานฯไปดำเนินการ โดยตามเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน หลังจากบอร์ดมีมติไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่ทางสำนักงาน กสทช. อ้างว่ารายงานของอนุฯ ทั้ง 4 ชุด มีจำนวนมากจึงต้องรวบรวม ดังนั้น บอร์ดจึงลงมติในวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานฯชุด นายไตรรัตน์ ขึ้นมาโดยเฉพาะ

ในเวลาถัดมาไม่นาน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นายไตรรัตน์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันผลกระทบ จากกรณีการรวมธุรกิจ แสดงว่า สำนักงานฯ อาจจะมีเจตนารมย์ให้เกิดการอนุมัติควบรวมแบบมีเงื่อนไขหรือไม่

ทรู-ดีแทค

อนุกรรมด้านเศรษฐศาสตร์ ชี้ หากให้ควบรวมจีดีพีลดลง 3 แสนล้าน

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมด้านเศรษฐศาสตร์ สรุปผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการควบรวม โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE Model) ว่า หากมีการควบรวม จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP growth) ลดลง ตามระดับราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้นโดยช่วงที่จีดีพีติดลบจะอยู่ระหว่าง 0.05-1.99% ซึ่งกรณีดีที่สุด คือ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10% และไม่มีการร่วมมือกันระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ (No collusion) จีดีพีจะลดลง 0.05% หรือคิดเป็นมูลค่า 8,243.9 ล้านบาท แต่กรณีเลวร้ายที่สุด คือ ประสิทธิภาพไม่เพิ่มขึ้น และมีการร่วมมือกันในระดับสูง (Cartel) จีดีพีจะลดลง 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่า 322,892.1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ค่าบริการสื่อสารไร้สายที่จะเพิ่มขึ้นหลังการควบรวมทรูและดีแทค จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.05-2.07% โดยระดับความรุนแรงของผลกระทบกรณีการควบรวมจะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพมีผลน้อย ในขณะที่ระดับความร่วมมือของผู้ประกอบการจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ยิ่งเหลือน้อย ยิ่งร่วมมือกันง่าย ยิ่งขนาดใกล้เคียงกันเท่าไรยิ่งร่วมมือกันง่าย และสุดท้ายอยู่ที่ประสิทธิภาพการกำกับดูแลของ กสทช.

กสทช.มองไม่เห็นอำนาจของตัวเอง

อนุกรรมการด้านกฎหมาย รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ให้ความเห็นว่า หากพิจารณาตามประกาศปี 2549 แล้วนั้น ในกรณีการรวมธุรกิจหรือกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาด กสทช.ก็ไม่สามารถอนุมัติได้  อีกส่วนที่สำคัญคือ กรอบการทำงานและการหากรณีศึกษาที่ กสทช.ให้เวลามานั้นน้อยเกินไป

อีกหนึ่งในคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย นายกนกนัย ถาวรพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยที่คัดค้านการควบรวม กล่าวว่า ในด้านประเด็นความคลุมเครือเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. สามารถตีความมาตรการในข้อนี้ ให้รวมถึงคำสั่งห้ามการควบรวมได้ อีกทั้งกฎหมายในข้อนี้ เพียงยกตัวอย่างมาตรการเฉพาะที่ กสทช. สามารถกำหนดได้เพื่อรักษาการแข่งขัน สังเกตได้จากข้อความว่า “มาตรการเฉพาะตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง…” กสทช. จึงสามารถกำหนดมาตรการเฉพาะอื่นใดรวมทั้งการสั่งห้ามการควบรวมเพื่อรักษาการแข่งขันในตลาดได้อีกด้วย

ทรู-ดีแทค

นอกจากนี้ ข้อ 8 ของประกาศ 2549 (ประกอบข้อ 5 และ 9 ประกาศ 2561) ยังให้อำนาจ กสทช. ห้ามการควบรวมหรืออนุมัติแบบมีเงื่อนไข สำหรับการควบรวมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการประเภทเดียวกัน (เช่น ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และการเชื่อมต่อโครงข่าย เช่นเดียวกัน) ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนก็ตาม

หากการควบรวมนั้นอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดการให้บริการโทรคมนาคม ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า การควบรวมไม่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าดัชนีการวัดการกระจุกตัวของตลาด (HHI) ในระดับที่กฎหมายกำหนดตามประกาศ 2561 อย่างไรก็ตาม ประกาศ ปี 2549 ก็ยังให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติควบรวมอยู่ดี

หากตีความประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของ กสทช. ทุกฉบับจนสุดทางแล้วไม่พบว่า กสทช. มีอำนาจในการตรวจสอบว่าการควบรวมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตนยังมองว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.แข่งขันฯ) สามารถนำมาใช้บังคับได้ ในมาตรา 4(4)”

ทรู-ดีแทค ควบรวมสำเร็จผู้บริโภครับกรรม!!

ประธานอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าวว่า หากมีการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างทรู และ ดีแทค จะส่งผลกระทบต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ซัพพลายเออร์ และเอกชนที่ทำธุรกิจกับค่ายมือถือทั้ง 2 ค่าย เช่น SMS content หรือ content partners ต่างๆ แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ใช้บริการหรือประชาชนที่เป็นลูกค้า เพราะมีรายงานผลการศึกษาว่า ค่าบริการอาจแพงขึ้น 20% จากการที่ธุรกิจโทรคมนาคมมีการผูกขาด เพราะจะมีผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย

ถามว่าผู้บริโภคจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร เพราะเมื่อของมีจำกัด แต่มีแค่ 2 รายใหญ่ ที่ขายสินค้าในตลาด แล้วราคาอาจจะแพงขึ้น 20% และเราจะไม่ใช้ ก็ไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเลือก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติหรือ เอ็นที ก็มี MVNO (ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน) มาเสนอข้อมูลให้ฟังว่าเอ็นทีมีเฉพาะบริการ 3G เท่านั้น ไม่มี 4G และ 5G ถ้าใครอยากใช้ 4G และ 5G ก็ต้องไปผูกขาดกับ 2 รายใหญ่เท่านั้น

ทรู-ดีแทค

ดังนั้น ลูกค้าจึงมีอำนาจในการปกป้องตัวเองต่ำ ส่วนที่มีการโต้แย้งว่า ที่นักวิชาการพูดมาและที่ผู้บริโภคเสนอมา เป็นแค่การคาดการณ์ทางทฤษฎี แม้ว่าตรงนี้จะยังไม่สิ่งที่ไม่เกิดขึ้น แต่มีสิ่งที่ต้องหา คือ โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีมากน้อยอย่างไร ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า หลักการพยากรณ์ที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่การมโน ไม่ใช่การคาดการณ์ล้วนๆ แต่มีหลักวิชาการ และมีตัวอย่างในต่างประเทศรองรับ

นอกจากนี้ ยังมีคำพยากรณ์มาว่า ถ้าการควบรวมธุรกิจทำให้เกิดการผูกขาด จะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบจากค่าบริการที่แพงขึ้น และมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงด้วย

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องการควบรวมระหว่าง ทรู กับ ดีแทค โดยตรง ได้ข้อสรุปแล้วว่า คณะกรรมการกสทช. “มีอำนาจ” ในการอนุญาตให้ควบรวม หรือไม่อนุญาตควบรวม ด้วยคะแนนเสียง 10 ต่อ 1

“อำนาจในการอนุญาตไม่อนุญาต เป็นอำนาจเดิมของคณะกรรมการกสทช.อยู่แล้ว ตามประกาศกสทช.เมื่อปี 2549 มาเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อปี 2561 มีประกาศกสทช. ออกมา อาจจะต้องการเพื่อความรวดเร็ว บอร์ดจึงเป็นเพียงแค่รับทราบอย่างเดียวเมื่อฝ่ายเลขากสทช. เสนอเรื่องขึ้นมา”

ทรู-ดีแทค

นวัตกรรมสร้างเองได้ไม่เกี่ยวควบรวม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยีระบุไว้ว่า กรณีไม่อนุญาตให้ควบรวม จะส่งผลให้ ดีแทค ซึ่งมีความถี่และความจุโครงข่ายต่ำ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรองรับความต้องการของลูกค้า เป็นเหตุให้ดีแทค ต้องลงทุนเพิ่มเติม หากต้องการประกอบกิจการต่อ เพื่อเพิ่มความจุในการรับ-ส่งข้อมูล และใช้เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นความถี่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Multi operator core network (MOCN)

นอกจากนี้ กสทช.อาจเห็นสมควรให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายโดยเปิดให้ผู้ประกอบการต่างราย สามารถร่วมใช้คลื่นความถี่เดียวกันได้ ดังนั้น หากดีแทคไม่ลงทุนเพิ่มเติมจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ประกอบกับการเกิดนวัตกรรมหรือบริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น เมตาเวิร์ส รถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทพึงดำเนินการ หรือเป็นมาตรการที่ กสทช.ควรส่งเสริม ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรวมธุรกิจแต่อย่างใด

หากไม่อนุญาตให้ควบรวม การแข่งขันในตลาดก็ไม่ลดลง เนื่องจากบริษัททั้ง 3 ไม่มีประโยชน์ร่วมกัน และจำเป็นต้องทำธุรกิจต่อไป โดยที่บริษัทดีแทคไม่ได้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แต่อย่างใด ขณะที่ทรูกับเอไอเอส มีให้บริการดังกล่าว ดังนั้น ดีแทค จำเป็นต้องนำเสนอบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว จึงต้องมีอัตราค่าบริการที่จูงใจ  ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด แม้ว่าจะมีบริการอื่นๆ เสริมแต่อย่างไรก็ตาม บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังถือเป็นบริการหลักที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานและสัดส่วนรายได้สูงสุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight