Business

บอร์ดกสทช.วันนี้!! ดับฝันควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ มติอนุกรรมการฯ 10 ต่อ1 ‘บอร์ดกสทช.มีอำนาจ’

ดับฝันควบรวม “ทรู-ดีแทค” หลังคณะอนุกรรมการพิจารณาควบรวม มีมติ 10 ต่อ 1 “บอร์ดกสทช.มีอำนาจ” อนุญาตให้ควบรวม หรือไม่อนุญาตควบรวม เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.วันนี้  

หลังจากเกิดปัญหาข้อขัดแย้งว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีอำนาจในการพิจารณาควบรวมธุรกิจหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีประเด็นการควบรวม ธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เนื่องจาก ประกาศกสทช.ปี 2561 กระทั้งบอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันต้องตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค ขึ้นมาพิจารณา 

ควบรวมทรู-ดีแทค บอร์ดกสทช.มีอำนาจ 

ล่าสุดแหล่งข่าวจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (บอร์ด กสทช. ) กล่าวกับ The Bangkok Insight  ว่าในการประชุมบอร์ดกสทช.วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมจะพิจารณาข้อเสนอของ คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องการควบรวมระหว่าง ทรู กับ ดีแทค โดยตรง

1655278618424

ล่าสุดคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมในช่วงที่ผ่านมาทุกสัปดาห์ ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่า คณะกรรมการกสทช. “มีอำนาจ” ในการอนุญาตให้ควบรวม หรือไม่อนุญาตควบรวม ด้วยคะแนนเสียง 10 ต่อ 1 ขณะที่หนึ่งเสียง มองว่าประกาศกสทช.ปี 2561 เห็นชอบแล้ว ควรที่ไปขั้นต่อไป คือกำหนดกติกาเงื่อนไขให้แก่การควบรวมไปเลย ขณะที่เสียงส่วนใหญ่มองว่าไม่ได้ ปัจจุบันยังไม่รู้เลยว่าบอร์ดกสทช.มีอำนาจหรือไม่ จะเอาตามประกาศปี 2561 ไม่ได้  

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอมายังบอร์ดกสทช.แล้ว และจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมวันนี้ (15 มิ.ย.) เพื่อที่บอร์ดจะได้นำไปดำเนินการต่อในเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู-ดีแทค ต่อไป

ควบรวมทรู-ดีแทค

“อำนาจในการอนุญาตไม่อนุญาต เป็นอำนาจเดิมของคณะกรรมการกสทช.อยู่แล้ว ตามประกาศกสทช.เมื่อปี 2549 มาเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อปี 2561 มีประกาศกสทช. ออกมา อาจจะต้องการเพื่อความรวดเร็ว บอร์ดจึงเป็นเพียงแค่รับทราบอย่างเดียวเมื่อฝ่ายเลขากสทช. เสนอเรื่องขึ้นมา” แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าว กล่าวว่าเมื่อบอร์ดกสทช.มีอำนาจ ดังนั้นต่อไปการเสนอเรื่องจากฝ่ายเลขากสทช. จะเอาอย่างไรกับการควบรวม นั่นหมายถึงว่าบอร์ดมีอำนาจสามารถขอเวลาในการพิจารณาได้ เวลาพิจารณาไม่ได้กำหนดไว้ในประกาศว่าต้องพิจารณากี่วัน  

 

ควบรวมทรู-ดีแทค

ควบรวมทรู-ดีแทค ส่อเค้าวุ่น

ก่อนหน้านี้  นายณภัทร วินิจฉัยกุล หนึ่งในกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ได้ยื่นศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เรื่องการแก้ไขประกาศ กสทช. เกี่ยวกับการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินไม่นำการแก้ไขประกาศของ กสทช. ปี 2561 มาบังคับใช้ เนื่องจากมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เช่น ประกาศในปี 2561 ขัดกับกฎหมายที่มีระดับใหญ่กว่าอย่าง พ.ร.บ. และยังขัดกับประกาศกสทช. ปี 2549 ที่ออกแบบเอาไว้ว่าการควบรวมจะต้องได้รับการอนุญาตไม่ใช่แจ้งเพื่อทราบต่อเลขาธิการกสทช.ภายใน 60 วันเท่านั้น

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  ได้ยื่นร้องเรียนต่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กรณีการควบรวมกิจการบริษัท ทรู กับ DTAC
ขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกฉบับอย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่

ควบรวมทรู-ดีแทค

ขณะที่ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ โดยเชิญเลขาธิการกสทช. และเลขาธิการ กขค. มาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการควบรวมทรู-ดีแทค ดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565

ได้ผลสรุปการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ พร้อมกับประเด็นข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ คือ อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อการกำกับดูแลการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เดิมประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กำหนดมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจไว้เป็นลักษณะของการต้องขออนุญาตก่อนการรวมกิจการ

แต่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย หลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เหมาะสมกับสภาพตลาดและอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์การแข่งขันและเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ กสทช. จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเปลี่ยนมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจ เป็นลักษณะของการแจ้งรายละเอียดการรวมธุรกิจ และผลกระทบของการรวมธุรกิจต่อสำนักงาน กสทช. เพื่อทราบ

แล้ว กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง มาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight