Economics

‘ธปท.’ ชี้เศรษฐกิจ ก.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ปีหน้ายังเสี่ยง!

แบงก์ชาติ ชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการใช้จ่ายภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ มองปีหน้าเสี่ยงสูง จับตาเปิดประเทศ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการใช้จ่ายภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน มูลค่าการส่งออกสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง อย่างไรก็ตาม ภาวะการลงทุนยังเปราะบาง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่

ขณะที่ภาพรวมมาตรการภาครัฐสนับสนุนท่องเที่ยวและวันหยุดยาว มองว่า ได้ผลดีระดับหนึ่ง ทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศได้เดินทางท่องเที่ยวและพักแรมสูงขึ้น ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางในจังหวัดที่ใกล้เคียงกรุงเทพฯ ทำให้การเดินทางยังกระจุกตัวในบางพื้นที่

แบงก์ชาติ

มองว่าการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามา จะทำให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวในระยะที่เหลือของปีนี้ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง หากโควิด-19 เกิดระลอกสองขึ้นมา จะทำให้ประเทศลำบากอีกครั้ง ขณะที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ แต่ข้างหน้าความไม่แน่นอนสูง เช่น เรื่องนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จากกนง.ที่เคยคาดไว้นักท่องเที่ยวปีนี้จะมี 8 ล้านคน แต่สศช.ประกาศล่าสุด 6.7 ล้านคน หายไป 1.3 ล้านคนกระทบจีดีพีเยอะ หายไป 0.5% ของจีดีพี” นายดอน กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายดอน คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวของธปท.ต้องปรับใหม่ จากเดิมตัวเลขปีหน้าให้ 16 ล้านคน กระทรวงการท่องเที่ยว 12 ล้านคน ซึ่งปีหน้าความเสี่ยงมากกว่าปีนี้ และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องกลับมาอย่างระวัง

ส่วนตลาดแรงงานนั้น ยังมีผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นแต่เป็นอัตราชะลอลง ซึ่งเดือน กรกฎาคม เพิ่มจากมิถุนายนเพียงเล็กน้อย แต่ต้องจับตาดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร โดยมองว่าเดือน กรกฎาคม แม้ดัชนีชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 จะลดลงมาแต่ยังสูงอยู่ เชื่ออีกนานกว่าจะกลับมาปกติ

สำหรับรายได้เกษตรกรเดือน กรกฎาคม ขยายตัวในด้านราคา หลังจากติดลบในเดือนก่อนหน้า คาดรายได้เกษตรกรเป็นบวกได้จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยาง แนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจากการติดตามยางแผ่นขาดตลาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น มองจนถึงสิ้นปีนี้เกษตรกรมีรายได้เป็นบวกได้ และเมื่อรวมกับการผ่อนคลายให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนประชาชนยังไม่มีความมั่นใจที่จะใช้จ่าย

นอกจากนี้ การลงทุนเอกชน เดือน กรกฎาคม ติดลบถึง 12.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยติดลบมากขึ้นเมื่อเทียบเดือนก่อนที่ติดลบ 10.2% จากกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก เช่น กลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดีขึ้น แต่ยังไม่ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ และยังลังเลว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไร ทำให้การลงทุนเอกชนลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ต้องจับตาใกล้ชิดเพราะการลงทุนในไทยต่ำมาเป็นเวลานาน

แบงก์ชาติ

ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานเพิ่มเติมว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน หดตัวน้อยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และปัจจัยชั่วคราวที่ในเดือนนี้มีวันหยุดยาวมากกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการประกาศวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ที่เลื่อนมาจากเดือนเมษายน ประกอบกับสถานการณ์การจ้างงาน รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นบ้าง ส่งผลให้ประชาชนออกมาเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 11.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 14.3% โดยเป็นการหดตัวน้อยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งที่รวมและไม่รวมการส่งออกทองคำ ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า อาทิ หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจดทะเบียนรถยนต์ และยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว รวมทั้งยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก อีกทั้งเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวเล็กน้อยจากที่หดตัวในเดือนก่อน ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 25.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานการนำเข้าน้ำมันดิบและสินค้าทุนที่ต่ำในปีก่อนหมดลง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่แม้ปรับดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวสูง จากการเบิกจ่ายของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ จากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐบางมาตรการที่สิ้นสุดลง สำหรับตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากจำนวนผู้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ที่ปรับลดลง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาวะการจ้างงานในภาพรวมยังอ่อนแอ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล ตามดุลการค้าที่เกินดุลสูงขึ้นจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายใกล้สมดุล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo