ชัดเจนแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปฏิเสธคำขอ จดสิทธิบัตรยา ฟาวิพิราเวียร์ แบบเม็ด เหตุไม่มีขั้นประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เปิดทาง องค์การเภสัชกรรม บริษัทยาไทย ผลิตได้
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงความคืบหน้า การพิจารณาคำขอรับ สิทธิบัตรยา “ฟาวิพิราเวียร์” รูปแบบยาเม็ด ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปฏิเสธคำขอ จดสิทธิบัตรยา “ฟาวิพิราเวียร์” แบบเม็ด แล้ว ภายหลังจากให้โอกาสผู้ขอ ได้ชี้แจงเพิ่มเติม โดยผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรพิจารณาแล้ว ยังคงเห็นว่า การประดิษฐ์ดังกล่าว ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามมาตรา 5 (2) และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522
การปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน ไม่มีผู้ใดมีสิทธิผูกขาดใน ยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งในโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลัก ซึ่งไม่เคยมีการขอรับสิทธิบัตร ในประเทศไทย และรูปแบบยาเม็ด หากองค์การเภสัชกรรม หรือบริษัทยาสามัญไทยรายอื่น ประสงค์จะผลิตยาดังกล่าว เพื่อใช้ในประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการของกฎหมาย ยังเปิดโอกาสให้ผู้ขอ สามารถอุทธรณ์คำสั่ง ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ ภายใน 60 วัน หากไม่มีการอุทธรณ์ ภายในระยะเวลาดังกล่าว จึงจะถือว่าคำสั่งปฏิเสธของกรมฯ เป็นที่สุด และเสร็จสิ้นกระบวนการทางกฎหมาย
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกภาคส่วน กำลังช่วยกันแก้ปัญหา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือ ให้ประชาชน เข้าถึงยาที่จำเป็น ได้อย่างทันท่วงที และไม่อยากให้มองว่า สิทธิบัตรเป็นอุปสรรค ต่อการเข้าถึงยาเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้เพราะหากมองในมุมกลับกัน ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในไทยเมื่อต้นปี 2563 มีคนไทยยื่นจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แล้วกว่า 60 คำขอ เช่น หน้ากากอนามัย ตู้อบฆ่าเชื้อ ยาต้านไวรัส และหุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า สิทธิบัตร ก็เป็นประโยชน์สำหรับคนไทย ที่จะทำให้ข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบาก ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปด้วยกัน
สำหรับประเด็นที่มีการเสนอในบางสื่อว่า ประเทศไทย ไม่สามารถบังคับใช้สิทธิ ตามสิทธิบัตร (Compulsory License หรือ CL) เพื่อผลิตยาที่มีสิทธิบัตรขึ้นเองได้ เนื่องจากติดขัดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
“กรมฯ ขอเรียนว่า การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ที่มีการอ้างถึง ปัจจุบันเป็นเพียงร่างกฎหมาย ที่อยู่ภายในหน่วยงาน ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณา ด้วยความรอบคอบ อีกหลายขั้นตอน กว่าจะมีผลบังคับใช้ ดังนั้น การใช้สิทธิ CL จึงยังเป็นอำนาจของ กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน”นายวุฒิไกร กล่าว
ก่อนหน้านี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงว่า สิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ ยาฟาวิพิราเวียร์ มีอยู่ 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เกี่ยวกับโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลัก ของยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไม่เคยยื่นขอรับสิทธิบัตร ในประเทศไทย โดยปัจจุบันหมดอายุความคุ้มครอง ในทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ดังนั้น ผู้ผลิตยา จึงสามารถนำสูตรโครงสร้าง ของสารออกฤทธิ์หลักนี้ ไปพัฒนาเป็นสูตรยา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทันที
ส่วนฉบับที่ 2 การขอรับสิทธิบัตร ยาฟาวิพิราเวียร์ รูปแบบยาเม็ด ได้มีผู้ยื่นขอให้กรมฯ ตรวจสอบการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 และผู้ตรวจสอบได้พิจารณาแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้ขอ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่า “สิทธิบัตรดังกล่าว ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- พาณิชย์ แจงปมขอจดสิทธิบัตร ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ยังไม่อนุมัติ ผลิตยาเม็ด
- ชัดแล้ว! ยาฟาวิพิราเวียร์ กทม. เคาะใช้ในผู้ป่วยสีเขียว หวังศึกษา ข้อดี-ข้อเสีย