COVID-19

ชัดแล้ว! ยาฟาวิพิราเวียร์ กทม. เคาะใช้ในผู้ป่วยสีเขียว หวังศึกษาข้อดี-ข้อเสีย

แก้ปม ยาฟาวิพิราเวียร์ กทม. หารือคณะแพทย์ เห็นชอบใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เพื่อศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ในการรักษา หวังต่อยอดผลการศึกษา ปรับใช้ระดับประเทศ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการบริหารจัดการ การใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ กทม. โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย คณะแพทย์จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ฯลฯ ร่วมประชุม

ยาฟาวิพิราเวียร์ กทม.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ขณะนี้ เป็นสถานการณ์พิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการปฏิบัติ ที่เข้มข้นมากกว่าปกติ ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์แพร่ระบาด ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร จึงได้เตรียมพร้อม ยาฟาวิพิราเวียร์ กว่า 600,000 เม็ด เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

โดยในที่ประชุม ได้ร่วมกันหารือแนวทางการใช้ยา เพื่อให้เกิดประสิทธิผล และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเห็นร่วมกันว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยเร็ว จะมีผลดีต่อผู้ป่วย มากกว่าการให้ยาช้า รวมทั้งเห็นว่า แนวทางปฏิบัติ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นแนวทางหลักที่ต้องถือปฏิบัติตาม

อัศวิน

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร จะกำหนดมาตรการเสริมเพิ่มเติม อาทิ การเร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างเข้มข้น จากนั้นจะคัดกรองผู้ป่วยตามระดับอาการป่วย แบ่งเป็น สีเขียว, สีเหลือง และสีแดง และนำส่งต่อระบบการรักษาพยาบาล

ในส่วนของผู้ป่วย ที่อยู่ระดับสีเขียว คือ ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย รวมทั้งไม่มีปัจจัยเสี่ยง ที่จะเกิดอาการรุนแรงของโรค จะได้รับการรักษา และติดตามอาการ ตามที่ กทม. กำหนด คือ การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงของโรค โดยเป็น ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว บางส่วนเท่านั้น ที่จะได้รับการรักษา ด้วยยาฟาวิพิราเวียร์

ทั้งนี้ ต้องเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ ตามการประเมินของแพทย์ที่ กรุงเทพมหานคร กำหนด อาทิ เป็นผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสในร่างกาย มากกว่าผู้อื่น และเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้ หากได้รับยาตั้งแต่แรกได้ และรักษาต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 5-10 วัน จะช่วยรักษา ไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วย ระดับสีเหลือง หรือสีแดงในอนาคตได้

“อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว นี้ ต้องให้ความยินยอม ในการรักษาด้วย”พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

อัศวิน1 2

ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร จะจัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูล จากการรักษา รวมทั้งมีมาตรการป้องกันผลข้างเคียง ที่เกิดขึ้นจากการรักษา เพื่อปกป้องผู้ที่เข้าร่วมการรักษา และต้องมีการประเมินผลว่า การดำเนินงานนี้ จะมีผลดีต่อการรักษาด้วยยาอย่างไร หรือจะมีผลทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ในอนาคตหรือไม่

ขณะที่การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ครั้งนี้ จะเป็นไปภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีระบบการติดตามผล และประเมิน ซึ่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะร่วมให้คำแนะนำในการศึกษา ติดตาม และประเมินผล ครั้งนี้ด้วย หากพบว่า การรักษาตามที่ กรุงเทพมหานคร กำหนดครั้งนี้ เกิดประโยชน์ อาจนำไปเพิ่มเติม ในคำแนะนำ สำหรับการดูแลรักษาระดับประเทศต่อไปในอนาคต

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ 1,478 ราย ในระดับสีเขียว คืออาการเพียงเล็กน้อย กว่า 1,192 ราย ระดับสีเหลือง 199 ราย และระดับสีแดง 38 ราย ที่ยังไม่ได้รับยา ซึ่งจะได้รับยาต่อ เมื่อเลื่อนระดับอาการ เป็นสีเหลือง และแดง คือ มีปอดอักเสบ และอาการรุนแรง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo