Business

ฟังเหตุผลชัดๆ ทำไมประกันสังคม ‘มาตรา 39’ ไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาโควิด-19

ในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ประกันสังคม มีนโยบายจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ

แต่ผู้ประกันตน มาตรา 39 นั้นไม่มีสิทธิ์รับเงิน เยียวยาโควิด-19 ดังกล่าวจาก ประกันสังคม ด้วย สำหรับสาเหตุคืออะไร? วันนี้มีคำตอบ!

ประกันสังคม มาตรา 39 เยียวยาโควิด-19

ประกันสังคม “มาตรา 39” ไม่มีสิทธิ์รับ เยียวยาโควิด-19 

นางกนกนันท์ วิริยานันท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการจ่ายประโยชน์ทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวผ่านรายการสถานีประกันสังคม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ทีผ่านมา

นายกนกนันท์กล่าวว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ จะไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จากกองทุนประกันสังคม เพราะผู้ประกันมาตรา 39 จัดส่งเงินสมทบเพียง 6 กรณีคือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยไม่มีการจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงาน เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยกรณีว่างงานจากโควิด-19 จึงไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา

shutterstock 1659753442

ผู้ประกันตน “มาตรา 39” คือใคร?

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ในระบบกองทุนประกันสังคม คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ 2 ข้อคือ 1.เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน และ 2.ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

โดยจากสถิติในเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่าผู้ประกันตนมาตรา 39 มีจำนวน 1.8 ล้านคน จากผู้ประกันตนทั่วประเทศทั้งหมด 16 ล้านคน

ตามปกติผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคม 9% ของฐานเงิน 4,800 บาท หรือคิดเป็น 432 บาทต่อเดือน ยกเว้นเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ที่ได้รับการลดหย่อนเงินสมทบเหลือ 278 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19

ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือกรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

เศรษฐกิจ ไทย ร้านค้า ธุรกิจ

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือใคร?

ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์และอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีทั้งหมด 11.1 ล้านคนทั่วประเทศ

ตามปกติผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ประกันสังคม 5% ของฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท หรือส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ยกเว้นระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ที่มีการลดหย่อนเงินสมทบเหลือ 3% หรือจ่ายสูงสุดไม่เกิน 450 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19

ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี คือกรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดรอบใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน ผู้ประกันตนมาตรา 33 จึงมีสิทธิ์รับเงินว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยาโควิด-19 ในอัตรา 50% จากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท หรือพูดง่ายๆ ว่า จะได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 7,500 บาทต่อเดือนนั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo