Business

พ.ค.จ่อเลิกจ้างเพียบ! นายจ้างร้องรัฐขอประกันช่วยลูกจ้าง 50% ประคองธุรกิจที่รัฐไม่ได้สั่งปิด

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ว่า ขณะนี้ทุกธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด แต่ธุรกิจที่รัฐบาลสั่งปิดจะได้รับการเยียวยา ส่วนธุรกิจที่เหลืออีกจำนวนมากซึ่งเป็นธุรกิจต่อเนื่องรัฐบาลไม่ได้สั่ง ได้รับผลกระทบเต็มๆ แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ขอให้ประชาชนอยู่บ้าน รัฐบาลระมัดระวังคนเดินเข้า-ออกประเทศ ธุรกิจได้รับผลกระทบทันที นี่คือเหตุสุดวิสัย ทั้งธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรมต่างๆ อีกจำนวนมาก หากไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนายจ้างต้องรับภาระอย่างเดียว  คงรับภาระอย่างนี้ไปได้ไม่นาน ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจโรงแรม รวมถึงทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจที่รัฐสั่งปิดกว่า 20 กว่าธุรกิจ

อนุชา มีเกียรติชัยกุล1
อนุชา มีเกียรติชัยกุล

“สภาพตอนนี้ธุรกิจที่ไม่ถูกสั่งปิด กำลังได้รับผลกระทบหนัก แต่รัฐบาลมองไม่ไม่เห็น ธุรกิจเหล่านี้กำลังทยอยปลดคนแล้ว เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น”นายอนุชา กล่าวและว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ

ร้องประกันจ่าย 50% ประคองธุรกิจ 6 เดือน

นายอนุชา กล่าวว่าประกันสังคมจะช่วยเฉพาะการปิดสถานประกอบการชั่วคราวหรือปิดเลย ประกันสังคมจะช่วย 50% เป็นเวลา 6 เดือน แต่เฉพาะที่สถานประกอบการที่รัฐบาลสั่งปิด แต่กลุ่มที่รัฐบาลไมได้สั่งปิดเขาก็ได้รับผลกระทบ เช่น บางรายขายของให้ห้างสรรพสินค้า เมื่อห้างถูกสั่งปิดแล้วเขาจะขายของให้ใครได้

ส่วนธุรกิจที่รัฐบาลสั่งปิดประกันสังคมมองว่าเป็นเหตุสุดวิสัยช่วยจ่ายเงินให้ แต่ธุรกิจอื่นที่รัฐบาลไม่ได้สั่งปิดแต่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19  ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยประกันสังคมไม่ช่วย

“ทุกธุรกิจกำลังเรียกร้องรัฐบาลให้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งประกันสังคมต้องเข้ามาช่วย ไม่เช่นนั้นธุรกิจก็จะอยู่ไม่ได้ ประกันสังคมมาช่วย 50% เป็นเวลา 6 เดือน กับพนักงาน ในกรณีปิดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างก็จะได้มีเงินส่วนหนึ่ง บริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีบริษัทปิดกิจการไปต้องใช้มาตรา 75 ในพรบ.คุ้มครองแรงงาน นายจ้างต้องจ่ายลูกจ้าง 75% ของเงินเดือน  ตรงนี้ที่เป็นประเด็นทางกฎหมายใช่สุดวิสัยหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัย นายจ้างสามารถปิดกิจการโดยไม่จ่ายอะไรเลยได้ ซึ่งประกันสังคมเข้ามาช่วย 50%

นายจ้าง-ลูกจ้างกุมขมับไปไม่ไหว

ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ขอให้เซ็นร่วมกัน ขอให้ร่วมใจกันว่าพนักงาน หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) คือขอพักงานโดยไม่รับเงินเดือน ทำให้ลูกจ้างไม่ได้อะไร แม้ลูกจ้างจะเซ็นยินยอม แต่นายจ้างมองว่าเงินประกันสังคมน่าจะมาช่วยลูกจ้างได้ แต่ทำไมประกันสังคมไม่เอามาใช้ทั้งๆที่เงินที่อยู่ในประกันสังคมมาจากนายจ้างและลูกจ้าง นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้อง ประกันสังคมต้องชัดเจนเรื่องที่เกิดขึ้น  เพราะทุกที่ถูกระทบจากโควิด-19 ทั้งหมด และเป็นเหคุสุดวิสัยทั้งหมด

รูป2
ภาพ:สภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปคือนายจ้างก็ไปต่อไม่ได้ เมื่อไปต่อไม่ได้ลูกจ้างก็ยอมอยู่ต่อไปจ่าย 25% ก็ได้ แต่ตอนนี้เขาเสียสิทธิเงินที่ควรจะได้รับจากประกันสังคม  หากปล่อยให้อยู่ต่อไปแบบนี้อีก 6 เดือนธุรกิจพัง คนจะตกงานมากกว่าเดิมอีก  ถ้าผู้ประกอบการได้ประกันสังคมมาช่วยครึ่งหนึ่ง นายจ้างอาจจะบอกว่าช่วยลูกจ้างอีก 25% เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้ธุรกิจอยู่ได้ เมื่อสถานการณ์ดีทุกอย่างก็เริ่มต้นได้ เราไม่ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง  แต่ถ้าวันนั้นสถานการณ์ดีขึ้นแต่ธุรกิจล้มไปแล้ว ลูกจ้างต้องไปหางานใหม่ทำ วันนั้นวิกฤติก็จะเกิดขึ้นมาก

สะเทือนหนัก!พ.ค.จ่อเลิกจ้างเพียบ

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการ ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้น อยากให้รัฐบาลมองให้ออกว่ามันคือเหตุสุดวิสัย หลายบริษัทบอกว่าตอนนี้เดือนเม.ย.ยังพอไปกันได้ นายจ้างลูกจ้างช่วยกัน แต่พอเดือนพ.ค.เป็นก็อก 2 แล้ว นั่นคือต้องเลิกจ้างแล้ว ทุกบริษัทก็ต้องคุยกับลูกจ้าง อายุงานไม่ถึง 1 ปีจ่าย 1 เดือน ส่วนนี้ตัดทิ้งเลยไม่ต้องกลับมาแล้ว บางกลุ่มยังไว้ใจนายจ้าง เลิกจ้างไปก่อนไปรับ 70% จากประกันสังคม ซึ่งได้มากกว่าที่รับจากบริษัท เมื่อธุรกิจเปิดแล้วกลับมาทำงานด้วยกัน ส่วนค่าชดเชยเก็บไว้ก่อน เพราะไปกินกับประกันสังคมได้ 200 วัน หรือ 6 เดือน ทางเลือกต่อไปคือเลิกจ้าง ตอนนี้เริ่มถูกนำมาใช้กันมากแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ประกันสังคมจะจ่ายเงินหนักกว่า

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight