Business

เปิดเทรนด์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแข่งเดือด คาดปี 67 มูลค่าแตะ 6.94 แสนล้าน

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังแรงไม่ตก จับเทรนด์ปี 2567 มูลค่าพุ่ง 6.94 แสนล้าน ตลาดแข่งดุเดือดเข้มข้น เร่งพัฒนาต่อยอดรูปแบบให้บริการเจาะใจลูกค้า

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 จากพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่ง่ายขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ล้วนเป็นปัจจัยหนุนตลาดให้ยังคงขยายตัวได้ต่อ

อีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ เห็นได้จากรายงาน eCommerce-Thailand ที่ระบุว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ  ยังคงได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากปีละ 2,970 บาทต่อคนในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 8,840 บาทต่อคนในปี 2566

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2567 ว่าจะอยู่ที่ 6.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6.34 แสนล้านบาทในปี 2566

เปิด 12 เทรนด์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซปี 2567

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง TARAD.com วิเคราะห์เทรนด์การค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซในไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 รวม 12 เทรนด์ ดังนี้

1. E-Commerce ไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติโดยสมบูรณ์

ปัจจุบันการค้าขายออนไลน์ในประเทศไทยแบ่งออกเป็นหลายช่องทาง โดยช่องทางที่ใหญ่ที่สุดคือ การซื้อขายผ่านทาง E-Marketplace และรองลงมาคือทางโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งปีนี้การซื้อขายผ่านทาง App สั่งอาหารหรือ On-Demand Commerce ก็กลายเป็นช่องทางใหม่ที่คนไทยนิยมซื้อสินค้าครับ ซึ่งที่พูดมาทั้งหมดล้วนและเป็นช่องทาง ที่มีผู้ให้บริการจากต่างประเทศทั้งสิ้น แทบจะไม่มีของประเทศเลย

บรรดาผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสต่างเริ่มทำกำไรเป็นกอบเป็นกำแล้ว หลังจากที่ขาดทุนติดต่อหลายปีกันเป็นหมื่นล้าน การมาของผู้ให้บริการ e-commerce ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศไม่ได้มาแค่ตลาดนัดซื้อขายเท่านั้น แต่หากดูดี ๆ เขามาครบทั้งระบบนิเวศของการค้าออนไลน์ได้แก่

  • ซื้อ (Buy) ผ่านทาง Marketplace (Shopee, Lazada)
  • จ่าย (Pay) ผ่านบริการชำระเงินของตัวเอง (Shopee Pay, LazPay)
  • ส่ง (Delivery) ผ่านบริการบริษัทส่งของๆ ตัวเอง (Shopee Express, Lazada Express)

ช้อปปี้

เมื่อมาครบทั้งระบบนิเวศทำให้บริษัทเหล่านี้มีความได้เปรียบกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่มีให้บริการแค่เฉพาะทางเท่านั้น

เมื่อยักษ์ใหญ่โลกการค้าออนไลน์สามารถควบคุมตลาดซื้อขายออนไลน์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงเริ่มเข้าสู่การฮั๊วและขึ้นราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่ามีการขึ้นราคาค่าบริการของการขายของใน e-marketplace อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้นโดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาคือ TikTok ที่เริ่มกลายเป็นช่องทางการซื้อสินค้าของคนยุคใหม่ ทำให้การแข่งขันของการค้าออนไลน์เริ่มรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการในการควบคุมและทำงานร่วมกับบริษัทจากต่างประเทศ ให้เกิดความสมดุลและเหมาะสม เพราะต่อไปการค้าออนไลน์จะยิ่งเติบโตเพิ่มมากขึ้น หากบริษัทต่างชาติเขาไม่มีบทบาทกับการค้าของประเทศไทยแบบไร้การควบคุม ต่อไปพ่อค้าแม่ค้าและคนทำธุรกิจค้าขายในประเทศจะอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทต่างชาติแบบหมดจด

2. ส่งสินค้าแข่งดุ ขาดทุนแทบทุกราย 

ปัจจุบันการส่งสินค้ากลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการค้าออนไลน์ โดยเมื่อพิจารณาจากกำไรขาดทุนของธุรกิจขนส่งในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าแทบทุกเจ้าขาดทุนอย่างหนักหน่วง ตัวอย่างเช่น ไปรษณีย์ไทยมีการขาดทุนถึงเกือบ 2 หมื่นล้าน หรือ Kerry Express และ Flash Express ที่มีการขาดทุนนับหมื่นล้านเช่นเดียวกัน ที่ขาดทุนหนักหน่วงขนาดนี้เพราะธุรกิจมีการแข่งขันสูง มีการตัดราคาและลดราคาเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ

แต่ต้องยกเว้นให้กับเจ้าที่มีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำเป็นปลายน้ำ (Full Service E-Commerce) ตัวอย่างเช่น Shopee Lazada รวมไปถึง J&T (ที่เป็นผู้ให้บริการขนส่งของ TikTok) ผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะมีความได้เปรียบกว่าบริษัทที่มีแต่บริการขนส่งเท่านั้น

shutterstock 1457116475

ทั้งนี้เพราะในกลุ่มบริษัทนี้ จะมีบริการตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างการขายสินค้าผ่านช่องทางที่มาจาก E-Marketplace ของตัวเอง ทำให้บริษัทกลุ่มนี้มีสามารถควบคุมทุกรายการที่มีการสั่งซื้อและส่งต่อไปยังปลายน้ำ คือส่งต่อให้บริษัทขนส่งภายในของตัวเองได้ ทำให้มีความได้เปรียบมากกว่าบริษัทขนส่งปกติทั่วไป

จึงเห็นได้ชัดว่าบริษัทในกลุ่ม Full Service E-Commerce นี้ สามารถสร้างกำไรและความได้เปรียบสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทขนส่งเพียงอย่างเดียว ที่ตอนนี้ขาดทุนบักโกรกอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี

ในมุมของพ่อค้าแม่ค้า ช่วงนี้คือโอกาสทองที่ค่าขนส่งถือว่าถูกมาก ๆ ดังนั้นลองเปรียบเทียบบริษัทขนส่งที่ตัวเองใช้อยู่ดี ๆ เพราะคุณอาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าที่คุณใช้อยู่ก็ได้

3. สงคราม Live Commerce-Entertainmerce

พฤติกรรมคนไทย เปลี่ยนไปซื้อสินค้าผ่านทางการดูวีดีโอสั้น หรือ Live Commerce กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อก่อนคนไทยจะนิยมซื้อสินค้าผ่านทาง facebook Live กันมาก

แต่ปัจจุบันการมาของ TikTok ที่มีการผนวกเอาการค้าออนไลน์เข้าไปในคลิปสั้น (การติดตะกร้า) หรือบริการ TikTok Shop ทำให้พ่อค้าแม่ค้า สามารถขายสินค้าผ่านทาง TikTok กันได้ง่ายมากขึ้น สร้างยอดขายได้เป็นกันมากมายเลยทีเดียว

นอกจากนี้ การที่ TikTok ส่งลูกค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้า ง่ายกว่าและมีโปรโมชั่นมากกว่า การ Live ขายผ่านทาง facebook จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนหันมาขายสินค้าผ่านทาง TikTok กันอย่างถล่มทลาย

shutterstock 2327155223

4. KOL Commerce การค้าผ่านคนดังคนน่าเชื่อถือ

ปัจจุบันคนไทยนิยมติดตามคนดัง คนที่มีชื่อเสียงทางออนไลน์ หรือเรียกว่า KOL (Key Opinion Leader) บางคนอาจจะเรียกว่าอินฟูล (Influencer) ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีฐานคนติดตามอยู่มาก และเมื่อคนเหล่านี้เริ่มมีการพูดถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีคนเชื่อและสนใจซื้อสินค้าตามคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

ทำให้ตอนนี้เริ่มมีการเปิดเป็นบริการเหมือนเอเยนซี่ ที่รวบรวมเหล่าคนดังเอาไว้ เมื่อเจ้าของสินค้าต้องการจะขายสินค้าตัวเองทางออนไลน์ ก็มีการส่งคนเราเข้าไปช่วยขายและโปรโมทสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ โดยจะมีการคิดค่าบริการในรูปแบบของส่วนแบ่งทางการค้า (Commission)

บริการลักษณะนี้เรียกว่า MCN (Multi Channel Network) ซึ่งเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ และด้วยกระแสนี้เองทำให้ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งใจจะเป็นคนดังในโลกออนไลน์หรือ KOL เพื่อขายสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ และสร้างรายได้ให้กับตัวเองอย่างมากมาย

ดังนั้นเจ้าของสินค้าและธุรกิจต่างๆ อาจจะหันมาใช้ KOL คนดังออนไลน์มาช่วยขายและโปรโมทสินค้าของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นได้

5. Affiliate Commerce ฝากคนอื่นขาย ง่ายกว่าขายเอง

เนื่องจากคนไทยนิยมซื้อสินค้าจากคนดัง คนที่รู้จักทางออนไลน์มากขึ้น การนำสินค้าไปให้คนเหล่านี้ช่วยขาย จึงเป็นแนวทางที่เริ่มนิยมกันมากขึ้นโดยเรียกวิธีนี้ว่า Affiliate Commerce หรือ การค้าผ่านตัวแทน โดยปัจจุบันเริ่มมีแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการผ่านระบบนี้มากขึ้น

วิธีการง่าย ๆ คือ เรานำสินค้าของเราไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์ม ของผู้ให้บริการ หลังจากนั้นกำหนดราคาสินค้า รายละเอียดและรูปภาพสินค้า จากนั้นกำหนดค่าคอมมิชชั่น ของสินค้าชิ้นนั้น ๆ โดยส่วนใหญ่จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ผมขายแชมพูลดผมร่วง ขวดละ 100 บาท ผมให้ค่าคอมมิชชั่น 20% ดังนั้นคนที่เอาสินค้าของผมไปขายได้ เขาจะได้ 20 บาทจากทุกรายการคำสั่งซื้อ 1 ขวด

shutterstock 2347817283

สำหรับรูปแบบการขายส่วนใหญ่เป็นการขายผ่านทางออนไลน์ ทำให้ตัวแทนสินค้าสามารถมาสมัครและเลือกสินค้าของคุณไปขายได้ง่าย ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม และตัวแทนสามารถนำสินค้าของคุณ ไปนำเสนอผ่านทางช่องทางออนไลน์ของตัวแทนและคนเหล่านั้น เช่นผ่านทาง TikTok หรือ ช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ซึ่งคนเหล่านั้นอาจจะเป็น KOL คนดังในโลกออนไลน์ก็ได้

มีคนสนใจและกดสั่งซื้อ คำสั่งซื้อจะถูกส่งผ่านแพลต์ฟอร์ม มาให้คุณรู้ หลังจากนั้นคุณก็ส่งสินค้าไปให้คนที่สั่งซื้อ และระบบจะมีการคำนวณและหักส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่นให้กับคนที่นำเสนอสินค้าของคุณโดยอัตโนมัติ ทำให้การค้าด้วยวิธีนี้กำลังเป็นที่นิยมมาก เพราะยิ่งมีคนนำสินค้าของคุณไปโปรโมทมากเท่าไหร่ โอกาสการขายและเพิ่มยอดขายของสินค้าคุณจะมีมากขึ้น บริการลักษณะนี้ที่กำลังเป็นที่นิยมคือ TikTok Shop ที่มีบริการ Affiliate Commerce หรือ การค้าผ่านตัวแทน อยู่ในนั้นเลย

6. สินค้าจีนยังบุกไทยต่อเนื่อง

สินค้าจีนยังคงบุกเข้าไทยกันต่อเนื่อง เนื่องจากการเชื่อมต่อของระบบขนส่งจากประเทศจีนมาประเทศไทยง่ายและสะดวกขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการใช้กลไกของช่องว่าง ของการไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า โดยการนำสินค้าไปวางไว้ในโกดังพื้นที่ เขตปลอดอากร (FreeZone) ทำให้สินค้าจีนที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย มีความได้เปรียบกว่าสินค้าในประเทศ หรือผู้ที่นำเข้าเสียภาษีอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมภาครัฐของไทย ที่มีการควบคุมติดตามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าที่ไม่มี ม.อ.ก., อ.ย. และมาตรฐานต่างๆ ออกไปจาก Marketplace ทำให้สินค้าของจีนบางส่วน ที่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถขายได้

การมาของสินค้าจีนจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบ เป็นสินค้าที่มีแบรนด์ มีมาตรฐาน และทำถูกต้องมากขึ้น ซึ่งการมารูปแบบนี้จะเข้ามาแข่งขันกับลูกค้าคนไทยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสินค้าจีนจะมีความได้เปรียบคือเรื่องราคา ดังนั้นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าเหมือนกับสินค้าจริงต้องปรับตัว หรืออาจจะต้องปรับธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของการแข่งขันการค้าที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

shutterstock 2144499519

7. E-Commerce Automation & AI

การค้าขายออนไลน์ในวันนี้เริ่มมีเครื่องมือใหม่ ๆ ออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การทำธุรกิจในโลกออนไลน์ สามารถใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อบริษัทขนส่งที่หลากหลาย รวมไปถึงระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจเช่นระบบบัญชี ระบบ Call Center ระบบ CRM ที่ใช้ในการดูแลลูกค้า รวมไปถึงการเชื่อมต่อเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ หรือ MarTech (Marketing Technology)

ขณะเดียวกัน ด้วยเทคโนโลยี AI ที่กำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่ค้าขายออนไลน์จำเป็นต้องใช้ AI กับทุกขั้นตอนในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ AI ในการวางกลยุทธ์และแผนการตลาด, การสร้างรูปภาพสินค้าและพรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น

8. เพิ่มการซื้อซ้ำผ่าน CDP Commerce

ด้วยช่องทางการค้าออนไลน์ที่หลากหลายในวันนี้ ทำให้ข้อมูลของลูกค้ากระจัดกระจายออกไปในหลายๆ ช่องทาง ทำให้การติดต่อและการเข้าใจลูกค้าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องการระบบรวมศูนย์ข้อมูลลูกค้าไว้ที่เดียวเพื่อต้องการจะบริหารจัดการครอบครัวลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การมาของ CDP (Customer Data Platform) คือเครื่องมือที่จะช่วยรวบรวมและจัดการข้อมูลลูกค้าจากหลากหลายแหล่งช่องทางมารวมไว้ที่เดียว ซึ่งในที่นี้จะมีข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการสั่งซื้อ ข้อมูลการติดต่อ ข้อมูลพฤติกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เราสามารถเข้าใจลูกค้าเราได้ดีมากขึ้น

การใช้ CDP จะช่วยทำให้เกิดการซื้อซ้ำ (Repeat Purchase) ได้ง่ายมากขึ้นรวมไปถึงการเข้าสู่การทำการตลาดแบบอัตโนมัติ หรือ Marketing Automation ที่จะช่วยทำให้คุณสามารถทำการตลาดได้อย่างแม่นยำในระดับบุคคล และทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติโดยแท้ไม่ต้องใช้คน

CDP Commerce

9. รวยแต่เด็กด้วยออนไลน์ Online Young Selfmade

ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาในข้อข้างต้น ทำให้การทำธุรกิจออนไลน์วันนี้ทำง่ายมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ๆ ที่สนใจอยากเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์สามารถเริ่มต้นได้ทันที ด้วยต้นทุนและงบประมาณที่ต่ำ เราจึงเห็นเด็กรุ่นใหม่สามารถสร้างยอดขายได้เป็นนับร้อยล้านเป็นจำนวนมาก ผ่านการทำธุรกิจทางออนไลน์

ตัวอย่างเช่น น้องโม สาวน้อยอายุ 24 จากจังหวัดบุรีรัมย์ขายสินค้าสกินแคร์ แบรนด์ของตัวเอง สามารถสร้างยอดขายนับ 100 ล้าน ได้ภายในไม่ถึง 1 ปี โดยอาศัยช่องทางออนไลน์ และกลยุทธ์และเทรนด์การค้าออนไลน์ที่เกริ่นมาข้อก่อนหน้า ดังนั้นการทำธุรกิจร้อยล้านในวันนี้ไม่มียากเลยหากคุณเข้าใจและลงมือทำจริง

10. ต้องการซื้อสินค้า “ทันที” กับ On Demand Commerce

ความต้องการสินค้า ทันที หรือ On Demand Commerce ผ่านแอปสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์ กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่คนนิยมสั่งเฉพาะอาหารผ่านแอปนี้เท่านั้น ผู้ให้บริการอย่าง Grab, Lineman, Robinhood, FoodPanda ก็เริ่มขยายบริการออกไปยังสินค้าอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าสด สินค้าในซูเปอร์มาเก็ต และตามร้านค้าใกล้บ้าน

ทั้งนี้ ทำให้ App สั่งซื้ออาหารและสินค้ากำลังกลายเป็นช่องทางใหม่ พ่อค้าแม่ค้าสามารถขยายเป็นช่องทางการขายอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะตอบโจทย์กับพฤติกรรมคนที่ต้องการสินค้าทันที

11. การค้าแบบสมัครสมาชิก เก็บเงินทุกเดือนอัตโนมัติ Subscription Commerce

การขายสินค้าและบริการ หากสามารถล็อคให้ลูกค้าอยู่กับคุณได้ในระยะยาว จะช่วยทำให้สามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากคุณจะเก็บเงินกับเขาก้อนใหญ่ ๆ ก้อนเดียว อาจจะทำให้ลูกค้าคิดหนัก หรือไม่สามารถซื้อได้

shutterstock 2307831607

ดังนั้น การแบ่งค่าสินค้าและบริการออกเป็นรายเดือน จะทำให้ราคาถูกลง และคุณสามารถเก็บเงินได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เราเรียกการเก็บเงินรูปแบบนี้ว่า การเก็บเงินแบบสมัครสมาชิก (Subscription) หรือ การหักเงินอัตโนมัติรายเดือน (Recurring Payment)

นี่เป็นรูปแบบเดียวกับธุรกิจของ Netflix ที่คุณสามารถดูหนังได้ไม่อั้นโดยใช้จ่ายเดือนเพียงไม่กี่ร้อยบาท หรือบริการ iCloud ของ Apple ที่คุณจ่ายเดือนละไม่กี่สิบบาท คุณก็จะได้คืนที่เก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้น แต่บริการทั้งหมดนี้ เป็นบริการที่คุณต้องการรายเดือนเดือนละไม่กี่บาท แต่ต้องจ่ายต่อเนื่องถึงจะใช้บริการได้

12. D2C ขายตรงสู่ผู้บริโภคโอกาสใหม่ของผู้ผลิต

ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางการขายค้าปลีกแบบเดิมๆ ที่ต้องผ่านระบบซับพลายเชน (Supply Chain) หรือช่องทางการค้าที่เคยใช้มาช้านาน เช่น เครือข่ายค้าส่ง (Wholesaler), ตัวแทนกระจายสินค้า (Distributor) หรือ เครือข่ายค้าปลีก

ข้อนี้ผู้ผลิตสามารถขายตรงไปยังผู้บริโภคได้เลย ผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านค้าของแบรนด์ตัวเองผ่าน marketplace หรือ Social Media ทำให้ผู้ผลิตสามารถขายตรงยังผู้บริโภค โดยที่สามารถลดต้นทุนจากการจ่ายให้กับเครือข่ายค้าปลีกแบบเดิม ๆ

ที่สำคัญ ผู้ผลิต จะสามารถได้ข้อมูลของลูกค้า (Customer Data) ได้ทันที ทำให้เปิดโอกาสการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตไม่เคยทำมาก่อน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/

Avatar photo