Business

‘สุริยะ’ โล่ง!! ไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน – สั่งฝ่ายกฎหมายเตรียมพร้อมข้อมูล

“สุริยะ” ปลื้มคมนาคมไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน หลังศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ เหตุเอกชนยื่นฟ้องคดีหลังพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  สั่งฝ่ายกฎหมายหาข้อมูลรอบด้านเพิ่มเติมซัพพอร์ต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่ ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ หลังรับพิจารณาคดีใหม่ ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นสัญญาณข่าวที่ดีที่ทำให้ กระทรวงคมนาสคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย พร้อมดอกเบี้ยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวนกว่า 24,000 ล้านบาท

ค่าโง่โฮปเวลล์  2.4 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมข้อมูลเพื่อสนับสนุนถึงเหตุผลที่กระทรวงคมนาคมไม่ต้องจ่ายชดเชยตามผลอนุญาโตตุลาการ  หลังจากนี้ขั้นตอนก็ต้องรอศาลปกครองสูงสุด พิจารณาอีกครั้ง

ค่าโง่โฮปเวลล์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่สั่งให้กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการที่ รฟท.บอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายที่กำหนด

ค่าโง่โฮปเวลล์

ค่าโง่โฮปเวลล์  ขาดอายุความ

ทั้งนี้ศาลให้เหตุผลว่า การที่มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจาก บริษัท โฮปเวลล์  ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 มกราคม 2546 แต่ บริษัท โฮปเวลล์  กลับยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ดังนั้นจึงพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไป 1 ปี 9 เดือนเศษ ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ จึงขาดอายุความตามกฎหมาย  

และโดยที่ปัญหาเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาได้ตามข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นพ้นเวลาไว้พิจารณา และมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.51 จึงเป็นกรณีที่ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ทั้งหมด

ค่าโง่โฮปเวลล์

และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ อ. 221 – 223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

สำหรับคดีกล่าว  เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัท โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

ค่าโง่โฮปเวลล์

จากนั้น กระทรวงคมนาคม กับ รฟท.ได้ยื่นขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากเห็นว่า  บริษัทโฮปเวลล์  เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ขาดอายุความตามกฎหมายไปแล้ว  และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดี ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ก่อนที่วันนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตดังกล่าว เป็นผลให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม  บริษัท โฮปเวลล์  ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ในคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก ภายใน 30 วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight