Economics

ย้อนรอย 33 ปี ‘คดีโฮปเวลล์’ ตำนาน ‘ค่าโง่’ ที่ยังไม่จบ

“โครงการโฮปเวลล์” เป็นโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น

แนวคิดก่อสร้างโครงการเริ่มต้นในปี 2532 โดยกระทรวงคมนาคม ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเดือนตุลาคม ปรากฏว่ามีผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ (ฮ่องกง) สัญญาก่อสร้างทางรถไฟยกระดับระยะทางรวมทั้งสิ้น 63.3 กิโลเมตร

บริษัทโฮปเวลล์ ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายเอกชน ได้รับสัมปทานในการประกอบกิจการเดินรถไฟบนรางยกระดับ ระบบขนส่งทางถนนยกระดับ และเก็บค่าผ่านทาง และสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 630 ไร่ มูลค่ารวมของโครงการ 80,000 ล้านบาท โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี กำหนดการก่อสร้างใน 5 ช่วงของเส้นทาง สิ้นสุดในปี 2542 ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี

โฮปเวลล์

โครงการโฮปเวลล์สิ้นสุดลง โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึง 6 คน

  • นายมนตรี พงษ์พานิช รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (2532-2535) ริเริ่มโครงการในปี 2532
  • นายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (2534-2535) เป็นรัฐบาลที่เข้ามาภายหลังรัฐประหาร มีการสั่งการให้ตรวจสอบ และล้มโครงการ
  • พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2535-2538) โครงการได้รับการผลักดันต่อ
  • นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา (2538-2539)
  • นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ์ (2539-2540) เป็นช่วงที่โครงการโฮปเวลล์หยุดก่อสร้างโดยสิ้นเชิง ตามเอกสารคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ในเดือน กรกฎาคม 2540
    งานก่อสร้างโครงการทั้งบริษัทโฮปเวลล์ และผู้รับเหมาช่วงหยุดชะงักแทบทั้งหมด รฟท. ขอทราบเหตุหยุดงาน แต่โฮปเวลลล์อ้างเหตุอุปสรรคของพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ในเดือนกันยายน กระทรวงคมนาคม นายสุวัจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการในขณะนั้น ได้เสนอ ครม. ให้บอกเลิกสัมปทาน
  • นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่สอง คณะรัฐมนตรีมีมติบอกเลิกสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 โดยกระทรวงคมนาคม มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา และห้ามไม่ให้โฮปเวลล์ เข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ ในพื้นที่โครงการในวันที่ 27 มกราคม 2541

โฮปเวลล์

ค่าโง่ร่วม 24,000 ล้านบาท

บริษัทโฮปเวลล์ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลังจากรัฐบาลเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา ซึ่งทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะความหละหลวมของข้อสัญญา

หลังบอกเลิกสัญญา รฟท. ถือว่าโครงสร้างทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ และมีความพยายามนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต

แต่โฮปเวลล์ เห็นว่าการที่ รฟท. เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึด หรือเวนคืนระบบ หรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเดือนพฤศจิกายน 2551 ว่า ทั้ง 2 หน่วยงาน บอกเลิกสัญญาไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิ และให้จ่ายเงินชดเชยแก่โฮปเวลล์ เป็นเงิน 11,889 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 7.5% หลังจากนั้นทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ก็ดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครอง

โฮปเวลล์

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ สืบเนื่องจากกระทรวงคมนาคม และรฟท. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่า มีการรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้รัฐต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่บริษัทโฮปเวลล์ ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการพร้อมดอกเบี้ยราว 24,000 ล้านบาทให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการที่รัฐบอกยกเลิกสัญญา

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา กระทรวงคมนาคม ยังได้เดินหน้ายื่นเรื่อง เพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างถึงการนับระยะเวลา หรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้อง ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo