Economics

เปิดคำพิพากษา ‘ศาลปกครองกลาง’ คดี ‘โฮปเวลล์’ ขาดอายุความ สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ

เปิดรายละเอียด คำพิพากษา “ศาลปกครองกลาง” สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ให้จ่ายค่าชดเชยโฮปเวลล์ 24,000 ล้านบาท ระบุ “โฮปเวลล์” ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการหลังระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชดใช้ค่าเสียหายมูลค่า 24,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่าบริษัท โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้

โฮปเวลล์

ศาลปกครองกลางเห็นว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้ทำสัญญาลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. มีกำหนดเวลา 30 ปี

ซึ่งสัญญามีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญาแล้ว กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เห็นว่าการก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 มกราคม 2541 บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์

โฮปเวลล์ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมายเมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542

การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุ แห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น

แต่โฮปเวลล์ ไม่ได้เสนอข้อพิพาทตามเวลาที่กำหนดคือภายในวันที่ 30 มกราคม 2542 การที่ โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) นำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลา 1 ปี

โฮปเวลล์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทนั้น ได้มีการตรา พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 51 เดิม และบัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี ซึ่งมีผลใช้บังคับกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

ดังนั้น โฮปเวลล์จะต้องอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 มกราคม 2546 แต่โฮปเวลล์กลับยื่นในวันที่พ้นระยะเวลา 5 ปีไปแล้ว สิทธิเรียกร้องของโฮปเวลล์จึงขาดอายุความตามกฎหมาย

และการที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นพ้นเวลาไว้พิจารณา และมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 จึงเป็นกรณีที่การยอมรับ หรือการบังคับตามคำชี้ขาด ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอน และปฏิเสธการบังคับ ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

นอกจากนี้ กรณีของผู้ร้องทั้งสอง รู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และครบกำหนด 5 ปีในวันที่ 27 มกราคม 25456 การที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ขอให้มีคำชี้ขาด และบังคับให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเช่นกัน

โฮปเวลล์

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 221 – 223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo